นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืช หรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร ครั้งที่ 3/2563 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มักทวีความรุนแรงในช่วงเดือนธันวาคม - เดือนมีนาคม ของทุกปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในการนำเอาเศษซากพืช หรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นแทนการเผา
สำหรับแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เริ่มดำเนินงานในเบื้องต้นแล้ว แต่จะเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563 - 31 พฤษภาคม 2564 มีพื้นที่เป้าหมายนำร่อง 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก โดยเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม 3 มาตรการ
ทั้งนี้ดังนี้คือ มาตรการที่ 1 การป้องกัน ด้วยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร ผ่านโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และยังต้องเน้นการป้องกันและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง
มาตรการที่ 2 การยับยั้ง โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนข้อมูลและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงประสานการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์อำนวยการฯ ระดับจังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดตั้ง รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในช่วงเวลาห้ามเผา
มาตรการที่ 3 การแก้ไข/ฟื้นฟู ลดการกระจายตัวของปัญหาฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศ โดยให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมชลประทาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนในด้านการใช้น้ำเพื่อลดการฟุ้งกระจายของหมอกควัน PM 2.5 ตลอดจนกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมถอดบทเรียนเหตุการณ์ไฟป่าหมอกควัน เพื่อทบทวนแผนการปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปีต่อไป
อย่างไรก็ตามคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืช หรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตร ได้มีมติรับร่างแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ประจำปี 2564 และยังมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง กลับไปทบทวนแผนปฏิบัติการและรายละเอียดต่าง ๆ ตามภารกิจที่หน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อให้แผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น