ผลสำเร็จศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนฯขยายสู่ราษฎร

พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลางได้กล่าวในระหว่างติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ว่าเมื่อช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ได้เดินทางมายังศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทราครั้งหนึ่ง


จากวันนั้นถึงวันนี้พบว่าพื้นที่ยังคงความเขียวขจี มีแหล่งน้ำ และจากการดูงานโดยรอบภายในศูนย์ครั้งนี้ มีความคืบหน้าในการพัฒนาเพื่อเป็นแม่แบบให้กับราษฎรนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่มีความคืบหน้าอย่างมาก นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ที่พระองค์ได้ประยุกต์จากพื้นที่ต่างๆ  มาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทำให้พื้นที่มีน้ำ มีป่า และปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องมีการศึกษาวิจัยและนำผลสำเร็จเหล่านั้นขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของราษฏรอย่างต่อเนื่อง


“วันนี้ได้รับฟังจากประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากศูนย์ฯ ในด้านต่างๆ  ตั้งแต่การเพาะปลูก  การแปรรูป จากผลผลิตที่ผลิตได้ ทำให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี  และผลงานก็ออกมาดีเหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ของผู้คนทั่วไป  การดำเนินงานของศูนย์ฯ นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดถึงโครงการตามพระราชประสงค์ พระองค์ท่านทรงสนพระทัยโครงการต่างๆ ที่อยู่ทั่วประเทศพระองค์ทรงให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามและดำเนินการให้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเต็มที่” องคมนตรีกล่าว


สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคม จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยว ได้สนองพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาตั้งแต่ 2522 ในลักษณะพิพิธภัฑณ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งได้รวบรวมสรรพวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ และการประกอบอาชีพ  จาก 40 ปี ของการดำเนินงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ที่เคยเป็นดินทราย กลับมีความสมบูรณ์สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดรวมถึงให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยด้านการศึกษาวิจัย ทดลอง ได้มีการศึกษาวิจัย ทดลอง จำนวน 132 เรื่อง นำไปขยายผลสู่เกษตรกรได้ถึง 52 เรื่อง


อาทิ เช่น ด้านการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินที่มีมากถึง 40 เรื่อง แต่ละเรื่องเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ด้วยจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียงจะมีปัญหาเกี่ยวคุณภาพของดินที่เป็นดินเค็มและดินร่วนปนทรายเพราะผ่านการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีมากมาก่อน ขั้นตอนในการพัฒนาคุณภาพดินที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ผ่านการศึกษาวิจัยและประสบความสำเร็จแล้วจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการทำกินของราษฎร เช่นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยหญ้าแฝกในรูปแบบต่างๆ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผล เช่น มะม่วงผลไม้เอกลักษณ์และคุณภาพส่งออกของจังหวัดฉะเชิงเทรา และการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือรากหญ้าแฝกที่ค้างอยู่ในดินร่วมกับปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดินทรายจัดเพื่อปลูกข้าวโพดหวาน เป็นต้น


นอกจากนี้ยังได้นำมาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพที่โดดเด่นได้ถึง 13 หลักสูตร  อาทิ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร เกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงไก่ไข่เขาหินซ้อน การปลูกและแปรรูปสมุนไพรว่านสาวหลง ฯลฯ สำหรับด้านการขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลสำเร็จไปขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ฯ จำนวน 43 หมู่บ้าน 12,403 ครัวเรือน โดยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งได้สร้างความเป็นอยู่และความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงาน รวมทั้งขอรับบริการด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การทำอาหารแปรรูป การถนอมอาหาร โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 136,414 คน และคณะศึกษาดูงานต่างชาติ จำนวน 783 คนการนี้องคมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมการดำเนินงานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ  อาทิ แปลงทฤษฎีใหม่ การส่งเสริมอาชีพ ได้แก่การจักสาน และการตีเหล็กบริเวณหน่วยพัฒนาชุมชน และกิจกรรมต่างๆ  ทั้งการปลูกหญ้าแฝก ปศุสัตว์ ประมง โครงการส่วนพระองค์  การพัฒนาแหล่งน้ำ  ที่ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพของประชาชนบังเกิดความมั่นคงและมีความยั่งยืนตลอดไป



ความคิดเห็น