"ชลประทาน"ขอเกษตรกรใช้น้ำฝนเพาะปลูกเป็นหลัก

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางมีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ของ 5 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางตั้งแต่วันที่ 18-27 พฤษภาคม ประมาณ 46.54 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทำให้ขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งมีปริมาณน้ำรวมกัน 1,027 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯ โดยที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 11.35  ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้า 22.03 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำไหลเข้า 880,000 ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 109 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำไหลเข้าสะสมระหว่าง18-27 ที่ผ่านมา รวม 12.28  ล้าน ลบ.ม.


แม้ว่าในระยะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อีกทั้งในหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาพอสมควร แต่คาดการณ์ว่า ประมาณเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ฝนอาจจะน้อยหรือเกิดภาวะทิ้งช่วงได้ ดังนั้นสำนักชลประทานที่ 6 จึงดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2563 ของอธิบดีกรมชลประทานที่ให้เน้นการกักเก็บน้ำเพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำเกษตร เริ่มเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่วนน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะสนับสนุนภาคการเกษตรเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วง และจะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้ง 2563/2564










ความคิดเห็น