ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 นับเป็นวันสิ้นสุดของการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งของกรมชลประทาน (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ(ณ 30 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 35,590 ล้าน ลบ.ม.(46 % ของความจุฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,016 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม.(35 % ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 1,953 ล้าน ลบ.ม.
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053 ล้าน ลบ.ม.(96 % ของแผนฯ)(แผนวางไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 3,500 ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,595 ล้าน ลบ.ม. ถือได้ว่าการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่(แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.90 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก
ทั้งนี้ ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เหตุจากในช่วงฤดูฝนปี 62 มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำสายต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก
พร้อมกันนี้ ยังได้เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 66 จังหวัด 275 อำเภอ 413 ตำบล 696 หมู่บ้าน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 126 คัน คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 832 เครื่อง แบ่งเป็นการสูบน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตร คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 349 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำและผันน้ำไปช่วยการประปา และอื่นๆ คิดเป็นปริมาณน้ำมากกว่า 1,180 ล้าน ลบ.ม. และยังมีเครื่องจักรกลอื่นๆอีก 332 หน่วย ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งการซ่อม/สร้างทำนบ/ฝาย รวม 32 แห่ง และการขุดลอกแหล่งน้ำอีก 39 แห่งด้วย
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 48,080 รายแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น