"มนัญญา"เปิดทางเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ สารอินทรีย์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นใน วอ. 2 เป็น วอ.1

"มนัญญา"เดินหน้าเปิดทางเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ สารอินทรีย์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นใน วอ. 2 เป็น วอ.1 เพื่อใช้ในแปลงเกษตรดันไทยเป็นครัวโลกยกสะเดาเป็นแม่แบบ ตั้งเป้าได้แนวปฏิบัติก่อนสิ้นก.ค. 


นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำรายละเอียดในการปลดล็อคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามภูมิปัญญาไทยที่ถูกคุมไว้ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ.2 เช่น สะเดา หรือจุลชีพของไทย มาอยู่ใน วอ.1 ทำให้เกษตรกรที่ประสงค์จะใช้เพียงแต่แจ้งกรมวิชาการเกษตรเพื่อทราบเท่านั้น ทั้งนี้เพราะต้องการให้ภูมิปัญญาไทยสามารถมาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลกได้ โดยไม่ต้องพี่งพิงกับสารเคมีกำจัดแมลงที่นำเข้าเพียงทางเดียว

รมช.เกษตรฯกล่าวว่า การกำหนดให้สารชีวภัณฑ์ และสารอินทรีย์ ที่ใช้ทางการเกษตรในบัญชีบัญชี วอ.2 มาเป็น วอ.1 จะเป็นการเปิดทางเบื้องต้นเพื่อให้เกษตรกร ประชาชนหรือคนไทยทั่วไปและคนรุ่นใหม่ๆ สามารถที่จะคิดค้น หรือพัฒนาสูตรต่างๆทางการเกษตรหรือ สารอินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในแปลงเกษตรกร ได้เพิ่มชนิดมีความหลากหลายมากขึ้น


เพื่อลดความกังวลของเกษตรกรที่มีการผลิตสารกำจัดแมลงเพื่อใช้กันเองในครัวเรือนหรือเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องกังวลว่าจะผิดกฎหมายตามพรบ.วัตถุอันตราย อย่างไรก็ตามกรณีสารตาม วอ.2 หากต้องการผลิตเพื่อการค้าให้มีการขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการของพรบ.วัตถุอันตราย 2535

ประเทศไทยมีสมุนไพรกำจัดแมลงหรือวัชพืชหลายชนิด เช่นสารกำจัดแมลงที่นิยมคือสะเดา แต่ก็ปรากฏว่าสะเดาถูกจัดไว้ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ. 2 ซึ่งอาจจะค้านกับความรู้สึกของคนไทย ซึ่งทางวิชาการอาจจะท้วงติงเรื่องความเข้มข้นหรือยกอุปสรรคต่างๆมาทำให้การจะใช้ยากลำบาก และเกษตรกรต้องมีการแจ้ง มีการขึ้นทะเบียน


เมื่อภูมิปัญญาไทยของเรามี ราชการมีหน้าที่อำนวยความสะดวก จะได้มีการนำมาใช้และเป็นการส่งเสริมสมุนไพรของบ้านเราด้วย ส่วนจะใช้สัดส่วนหรือปริมาณอย่างไรฝ่ายวิชาการก็ทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้ามทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาแต่ของต่างชาติ ต้องนำเข้าเพียงทางเดียว อนาคตเราอาจจะมีสารสกัดจากพืชชนิดเยี่ยมก็เป็นได้ ลดการเสียดุลทางการค้าและลดสารเคมีตกค้างในร่างกาย จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้การเกษตรของไทยเป็นครัวโลกที่สมบูรณ์ ได้ให้กรมวิชาการเกษตรไปกำหนดมาตรการให้เสร็จในสองสัปดาห์เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ภายในเดือน ก.ค. 2563 นี้

ทั้งนี้ในเอกสารเผยแพร่ของกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า วัตถุ อันตรายชนิดที่ 1 ไม่มีวัตถุอันตรายที่กรมวิชการรับผิดชอบ วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 คือวัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ในครอบครองจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการกับกรมวิชาการเกษตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด


อาทิ สารชีวภัณฑ์ เช่นบาซิลลัส ทูริงเยนซิส สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง ไวต์ออยล์ หรือรีไฟน์ ปิโตรเลียมออย์ ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากพืชเช่น สะเดา สารสำคัญหรือจุลชีพ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญหรือจุลชีพที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลงหรือสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช และการควบคุมการเจริญเติมโตของพืช ในการขออนุญาตกรณีชนิดที่ 2 ต้องแจ้งการประกอบกิจการ






ความคิดเห็น