"กรมชลฯ"ย้ำน้ำต้นทุนไว้สำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติในฤดูฝนปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 รวมกันเพียง 5,377 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย


สามารถส่งน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและพืชต่อเนื่อง เท่านั้น ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูแล้งการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และต่อเนื่องมาจนถึงฤดูฝนปี 2563 ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,936 ล้าน ลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตรพืชต่อเนื่อง และรักษาระบบนิเวศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. รวมประมาณ 1,656 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่เพียง 280 ล้าน ลบ.ม.


จากข้อจำกัดของปริมาณน้ำต้นทุนนี้ สามารถส่งน้ำให้ได้เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำเท่านั้น เนื่องจากจังหวัดสุโขทัยในช่วงฤดูฝนประสบมักจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว จึงใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก โดยการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ 0.265 ล้านไร่ ใช้น้ำประมาณ 245 ล้าน ลบ.ม. 


ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง 12 ทุ่ง จำนวน 1.15 ล้านไร่ และพื้นที่ดอนอีก 6.568 ล้านไร่ ขอให้เพาะปลูกเมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้การเพาะปลูกข้าวนาปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วเสร็จเช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆมา



โครงการชลประทานอ่างทองและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร ได้ลงพื้นที่ไปพบปะกลุ่มเกษตรกร พร้อมด้วยปลัดอำเภอสามโก้ และกำนันตำบลอบทม เพื่อร่วมประชุมชี้แจงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ภายหลังการชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น เกษตรกรต่างมีความเข้าใจที่ต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริม อีกทั้งยังมีความพึงพอใจในแนวทางการให้ความช่วยเหลือสวนมะม่วง ของอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทองด้วย






ความคิดเห็น