"วีรศักดิ์"ชงเชื่อมเครือข่าย SMEs อาเซียน หวังประโยชน์​สูงสุดจากห่วงโซ่การผลิตโลก

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี ศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิกอาเซียนสู่ความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain)”


มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการที่ช่วยให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงกับ GVCs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอบเขตการศึกษาวิจัยได้ประเมินสถานะและบทบาทของ SMEs ต่อการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs พร้อมทั้งศึกษาและประเมินปัญหาและอุปสรรคในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs

อาศัยการวิเคราะห์นโยบายจากประเทศต้นแบบ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี และศึกษาเชิงลึกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน

 

จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณการมีส่วนร่วมใน GVCs โดยใช้ฐานข้อมูลปัจจัยการผลิตและผลผลิต ของ OECD ซึ่งมีการแบ่งสาขาการผลิต 34 สาขา ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2554 ใน 4 อุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมทั้งสี่ของประเทศไทยในสายการผลิตโลกนั้นมีความเชื่อมโยงเพิ่มมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมขนส่งมีระดับความมี ส่วนร่วมมากที่สุด

หากพิจารณาแยกอุตสาหกรรมตามลักษณะการเชื่อมโยงกัน จะพบว่า - อุตสาหกรรมอาหารมีการพึ่งพิงสายการผลิตโลก เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันมูลค่าของ อุตสาหกรรมอาหารไทยที่ถูกผลิตและนำไปใช้วัตถุดิบต่อในต่างประเทศ ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมพลังงาน (ประกอบด้วยปิโตรเลียมเป็นส่วนใหญ่) จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจาก ต่างประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพิงมูลค่าจากสายการผลิตโลกสูง ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าของอุตสาหกรรมพลังงานต่ออุตสาหกรรมอื่นกลับลดลง แตกต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการพึ่งพิงสายการผลิตโลกในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ในสายการผลิตโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากงานวิจัยเรื่องนี้ พบว่าควรเน้นไปท่ี 1) การพัฒนาบุคลากร สร้างระบบคุณวุฒิวิชาชีพ 2) การให้เงินทุนพัฒนา ควรควบคู่กับการวิเคราะห์ความคุ้มค่า มีที่ปรึกษาและมีการประเมินผล 3) ภาครัฐควรสนับสนุนภาคบริการและการค้าควบคู่กัน ในการขยายตลาดไปต่างประเทศ 3) การส่งเสริม R&D และนวัตกรรม 4)ควรดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ให้บริการ ให้มีการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน 4) การสร้างความร่วมมือระหว่าง SMEs ไทย

5) ผลักดันให้สมาคมผู้ประกอบการมีการพัฒนา สร้างหน่วยธุรกิจย่อยในสมาคมฯ เพี่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย เข้าไปรับสัมปทานขนาดใหญ่ หรือลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมได้ 6) การส่งเสริมความเชื่อมโยงกับ SMEs ในอาเซียนควรสร้างฐานข้อมูลผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยให้สมบูรณ์ เป็น Platform เพื่ออำนวยความสะดวก ในการประสานงาน และเช่ือมต่อไปยังประเทศอื่นในอาเซียน และ7) ควรจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเครือข่ายระหว่างสมาคมผู้ประกอบการในอาเซียน จัดงาน Trade Showใน CLMV เพื่อสร้างเครือข่ายให้กับ SMEs

"ผมหวังว่าผลการวิจัยเรื่องนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและนำไปสู่ผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา SMEs ในประเทศไทยให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GVCs มากขึ้นเพื่อการเติบโตแบบทั่วถึง" รมช.พาณิชย์​กล่าว







ความคิดเห็น