บทพิสูจน์ 13 ปี แห่งการเดินทางบน “การจัดการน้ำ” ที่ไม่สูญเปล่า ช่วยชุมชนรอดภัยแล้ง แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
จากความต้องการดับไฟป่าได้นำไปสู่การสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยเชื่อว่าหยดน้ำเล็ก ๆ คือ ต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งทั้ง ดิน ป่า และความสมดุลของทรัพยากร
การเดินทางที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนสายน้ำ กว่า 13 ปี ที่เอสซีจีและชุมชน ตลอดจนสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันลงพื้นที่โดยใช้ทั้งความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของ 70 ชุมชน 16,200 ครัวเรือน ใน 28 จังหวัด ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และเหลือใช้สำหรับพื้นที่เกษตรกว่า 45,300 ไร่
ความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง การแสวงหาพันธมิตรจึงเป็นทางออกที่เป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะในยามที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)
“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”หลักคิดแก้น้ำแล้ง-น้ำท่วม
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ได้เล่าย้อนไปว่า ชุมชนชนบทต่างประสบปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง” ทุกปี วนเวียนสลับไปมา นั่นเพราะสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอยู่ที่การขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและไม่มีการกักเก็บน้ำในฤดูฝน
“ทุกปีจะมีสองคำวนเวียนในชีวิตชาวบ้าน คือ ฝนแล้งและน้ำท่วม ปีไหนน้ำท่วมปีถัดไปก็น้ำแล้ง สลับกันไป เป็นปัญหาที่ขัดกันเอง นี่แสดงให้เห็นว่า มีน้ำแต่น้ำกลับหาย เพราะไม่มีการบริหารจัดการน้ำ ตลอด 70 ปี ที่ในหลวง ร.9 ทรงครองราชย์ กว่าร้อยละ 85-90 ของโครงการในพระราชดำริล้วนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เพราะน้ำเป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งที่ช่วยพลิกฟื้นผืนดินและป่า รวมถึงปัจจัย 4”
ที่ผ่านมา น้ำฝนได้ถูกกักเก็บไว้ใช้เพียงร้อยละ 7- 8 เท่านั้น แสดงว่ายังเหลือน้ำอีกกว่าร้อยละ 92 ที่ยังไม่ถูกกักเก็บและนำมาใช้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ที่ทรงสอนหลักคิด “ประเมินตนเอง และประมาณตน บริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่ไม่แน่นอน” เพื่อให้นำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน
“ช่วงน้ำมาเยอะก็ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลหมด ยามน้ำมาจึงต้องกักเก็บน้ำไว้ เหมือนเรามีเงินเยอะ หากนำไปใช้ก็หมดจึงต้องฝากธนาคาร เช่นเดียวกับการบริหารน้ำ ฝนตก 3 เดือน ก็ต้องเก็บไว้เพื่อใช้ในอีก 9 เดือนที่ไม่มีฝน ชุมชนจึงต้องมีสระเก็บน้ำของตัวเอง แล้วค่อยใช้น้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่เมื่อมีความจำเป็น แบบนี้จะช่วยให้มีน้ำใช้ได้อย่างพอเพียง และลดภาระที่จะไปสู่โครงสร้างใหญ่ คาดว่าปี 2564 จะเป็นปีแห่งความหิวโหย (Hungry Year) เนื่องจากปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร พร้อมกับปัญหาโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม”
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร หากมีการบริหารจัดการการใช้น้ำที่ดี ก็จะทำให้ปัญหาภัยแล้งทุเลา สิ่งสำคัญคือต้องผลักดันให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการน้ำในชุมชน
แก้ปัญหาเรื่องน้ำ คือ แก้ปัญหาความยากจนจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน
ด้าน วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า บนเส้นทางแห่งการทำงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำชุมชนกว่า 13 ปี ของเอสซีจี ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. ที่เริ่มต้นจากการสร้างฝายชะลอน้ำฝายแรก เพื่อดับปัญหาไฟป่ารอบโรงงานปูนลำปาง ได้ขยายไปสู่หนึ่งแสนฝายภายในสิ้นปีนี้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลสำเร็จจากการจัดการน้ำชุมชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาช่วยพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของ 70 ชุมชน 16,200 ครัวเรือน ใน 28 จังหวัด ให้มีน้ำถึง 26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรในพื้นที่กว่า 45,000 ไร่ ที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความยั่งยืน เพราะทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน มีความรักสามัคคี และลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเองได้
“การจัดการน้ำทำให้ชุมชนรู้ว่า เมื่อมีน้ำ ก็มีป่า เป็นซูเปอร์มาเก็ตที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สร้างรายได้ ลดปัญหาคนวัยทำงานที่ต้องทิ้งพ่อแม่ไปทำงานในเมืองหลวง หากแก้ปัญหาน้ำได้ ปัญหาความยากจนก็หมดไป ในปีนี้ที่เกิดปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ 40 ปี โครงการเอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง จึงร่วมมือกับสสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เป็นพี่เลี้ยงหนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการภัยแล้งด้วยตัวเอง โดยนำความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีในการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 56 ชุมชน และจะขยายผลไปอีก 52 ชุมชน เพื่อทำให้ชุมชนได้ร่วมมือกันต่อสู้กับภัยแล้ง อันจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน”
จิตสำนึกอนุรักษ์ของชุมชนนำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง
หมู่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง เป็นชุมชนต้นแบบที่เริ่มต้นแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการทำฝายชะลอน้ำ ได้ต่อยอดไปสู่การขุดสระพวง ทำให้ชุมชนมีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร เพื่อเพาะเมล็ดพันธุ์ส่งออก สร้างรายได้รวมกันทั้งชุมชนกว่า 17 ล้านบาท ในปี 2560 แล้วจึงพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบโฮมสเตย์ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการพลิกฟื้นทรัพยากร
วีนัส ได้สรุปบทเรียนของการบริหารจัดการน้ำกว่า 13 ปี ว่า ความยั่งยืนเกิดจากการปลูกจิตสำนึกหัวใจอนุรักษ์ไปสู่คนในชุมชน ให้รู้สึกหวงแหนผืนป่า
“แต่ก่อนชาวบ้านรู้สึกว่าป่าเป็นพื้นที่ที่สามารถไปหาประโยชน์ได้ จึงไปยิงนก ยิงสัตว์ป่า ตัดไม้ แต่เมื่อทำฝายเสร็จสมบูรณ์ ได้เห็นซูเปอร์มาเก็ตจากป่า ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ จึงรู้สึกว่าป่าคือของทุกคนในชุมชน จึงต้องช่วยกันรักษา การปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ของคนในชุมชน จึงเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง”
เพราะเรื่อง “น้ำ” คือเรื่องใหญ่เครือข่ายบัวหลวงขยายผลสู่ 22 ชุมชน 6 จังหวัด รอดภัยแล้ง
ด้าน อาสา สารสิน ประธานกรรมการมูลนิธิบัวหลวง บอกเล่าถึงผลสัมฤทธิ์ในปีแรกที่ได้ร่วมขยายผล นำองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำไปช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้ 22 ชุมชน ใน 6 จังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน ผ่านโครงการ “บัวหลวงร่วมชุมชนแก้ภัยแล้ง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ ด้วยการสร้าง หรือปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำของชุมชน ส่งเสริมให้มีการจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงทำการเกษตร จนชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และพร้อมเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ชุมชนอื่น ๆ
ขณะที่ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นสอดคล้องกันว่า การบริหารจัดการน้ำจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ธนาคารกรุงเทพฯได้ร่วมสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในการจัดการน้ำ เพื่อให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
“ปัญหาภัยแล้งทำให้สังคมขัดสนหรือมีปัญหาเรื่องสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่าง ๆ ก็ยากที่สังคมจะอยู่ได้อย่างปกติสุข จึงสะท้อนกลับมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน ที่ผ่านมาจึงได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ฟื้นฟูคลองพิพัฒน์หลังชุมชนของธนาคารกรุงเทพฯ กระตุ้นให้ชุมชนตื่นตัว ทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบทต่างก็มีจิตสำนึกรักษ์และห่วงใยธรรมชาติอยู่แล้ว หากทุกคนร่วมมือกันคนละเล็กน้อยก็จะเกิดพลังสำคัญ”
รับมือภัยแล้งได้ รวดเร็ว – แม่นยำ – ยั่งยืนด้วยระบบไอทีและฐานข้อมูล
ด้านดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)กล่าวถึงแนวทางการขยายผลการบริหารจัดการน้ำชุมชนให้มีประสิทธิภาพว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยเสริมให้การจัดการน้ำชุมชนให้เป็นระบบและยั่งยืนยิ่งขึ้น
“เอสซีจี ธนาคารกรุงเทพฯ และ สสน. เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนชุมชนด้านเทคนิคในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่าญหาน้ำสามารถจัดการได้ จึงเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคอีสานที่ประสบปัญหาภัยแล้งยาวนานกว่า 60-70 ปี เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูง มีพื้นที่การเกษตรถึง 64 ล้านไร่ แต่มีแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรเพียง 4 ล้านไร่ หรือเพียงร้อยละ 6 นี่คือเหตุผลที่อีสานไม่สามารถทำการเกษตรได้ เกิดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานนอกพื้นที่มากที่สุด จึงต้องเข้าไปจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ คือ แก้ปัญหาเรื่องน้ำ โดย สสน. ได้นำระบบไอทีมาช่วยบริหารจัดการน้ำ ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูล สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แม่นยำ และนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเกษตรกรสามารถติดตามสภาพน้ำและอากาศได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน ไทยวอเตอร์ (Thaiwater)”
พลัง รัฐ – ประชาชน – เอกชนกุญแจสำคัญแก้กับดักภัยแล้ง พยุงเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มองถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนว่า สามารถส่งผลไปสู่ภาพรวมเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศได้ ซึ่งการดำเนินงานของเอสซีจีในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลา 13 ปี รวมถึงการขยายความร่วมมือไปยังมูลนิธิบัวหลวง และธนาคารกรุงเทพฯ ทำให้ภาพความสำเร็จของการ “ร่วมมือ ร้อยใจ รอดภัยแล้ง” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เป็นที่ประจักษ์ และสะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายล้วนเป็นกลไกสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้
“ภัยแล้งปีนี้เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ โครงการร่วมมือร้อยใจรอดภัยแล้งได้ทำให้เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์อย่างดี ในการเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงมาถอดรหัสเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความปกติสุขของประชาชน เชื่อว่า ในอนาคตการทำงานในรูปแบบที่มีหลายภาคีร่วมกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และถือได้ว่าการทำงานในโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการทำงานนับจากนี้ไป เพื่อให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ไม่ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตที่หนักหนาสักเพียงใด การร่วมมือกันเพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาเรื่อง “น้ำ” ที่มีจุดเริ่มต้นจากการ “ลุกขึ้น” มาแก้ปัญหาไฟป่า แต่ด้วยการสร้างความ “ร่วมมือ” กันภายในชุมชน และ “เรียนรู้” วิธีการต่าง ๆ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ก็สามารถนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำชุมชน ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน นำไปสู่การพลิกชีวิตให้ครอบครัวมีความความอบอุ่น ทำให้ชุมชนสามารถ “รอดภัยแล้ง” และเอาชนะ “โควิด-19” ได้อย่างยั่งยืน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น