เกาะติดพื้นที่เสี่ยงท่วม กอนช.ประเมินสถานการณ์ 24 ชั่วโมง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจัดชุดปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ฝน-น้ำท่า-น้ำในเขื่อนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเคาะพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมรายเดือน ส่งข้อมูลเสี่ยงรายตำบลเสนอ มท. คณะอนุกรรมการน้ำจังหวัด พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติป้องกันระดับพื้นที่

 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า  ที่ประชุมได้มีการติดตามประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน ซึ่งในภาพรวมถือว่าช่วงนี้ปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงกลางเดือนกันยายน ที่ถือว่าระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ


จากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ยังถือว่ายังมีปริมาณน้ำน้อยให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันยังพบว่าเขื่อนขนาดใหญ่มีการระบายน้ำออกมากกว่าน้ำไหลเข้า เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ยังไม่สามารถระบายน้ำลงมาในพื้นที่ตอนล่างทุ่งเจ้าพระยาได้ ขณะที่คาดการณ์ฝนระยะนี้จะกระจุกตัวบริเวณภาคอีสาน จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ

รวมถึงภาคตะวันออก ที่ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้ ขณะที่การติดตามปริมาณน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ในภาคเหนือและอีสานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในลำน้ำยังไม่น่ากังวลมากนักในเรื่องของน้ำล้นตลิ่ง สำหรับในช่วงวันที่ 7-9 ก.ค. ฝนจะเพิ่มขึ้นบริเวณตอนบนของประเทศ จากนั้นในช่วงวันที่ 8 – 13 ก.ค. ฝนจะลดลงประมาณ 3-4 วัน โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนแนวโน้มการก่อตัวของพายุในช่วงนี้ยังไม่มีแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะทำงานฯ กอนช.ยังได้คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม โดยจะมีการส่งข้อมูลพื้นที่เสี่ยงถึงระดับตำบลให้แก่หน่วยเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เตรียมแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบในเชิงพื้นที่ แต่จะมีปรับปรุง ทบทวน ข้อมูลคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง จะมีการทบทวนทุกเดือนอีกครั้ง


ใช้ข้อมูลฝนตกจริงของแต่ละเดือนมาวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงในเดือนถัดไป เพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเดือนกรกฎาคมพบว่า มีพื้นที่เสี่ยง รวม 499 ตำบล 163 อำเภอ    ใน 37 จังหวัด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การติดตามสถานการณ์ฝน น้ำท่าในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำหลาก ดินโคลนถล่มเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ฤดูฝน ซึ่งมีพื้นที่บางแห่งประสบอุทกภัยแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ กอนช.จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานที่ กอนช.ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามประเมินพายุที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

 ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากการประเมินสถานการณ์น้ำแล้ว ที่ประชุมยังได้มีการติดตามมาตรการในการติดตามเฝ้าระวังนอกจากการเชื่อมโยงข้อมูลจากสถานีตรวจวัดของหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ให้ทุกหน่วยงานอัพเดตข้อมูลสถานการณ์พร้อมใช้งานแล้ว ยังมอบหมายให้มีการประเมินสถานีหลักที่อยู่ในจุดเสี่ยง และประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสถานีหลักแห่งชาติ 51 สถานี ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบแล้ว 42 สถานี คงเหลือ 9 สถานี ให้แล้วเสร็จทั้งหมด 51 สถานี ภายในเดือนก.ค. เพื่อคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย รวมถึงหารือแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองระบายน้ำ สถานีสูบน้ำต่าง ๆ การขุดลอกบึงในการรถไฟ 15 ไร่ เพื่อรองรับน้ำ 52,000 ลบ.ม.


เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 15 มิ.ย. จะแล้วเสร็จ 15 ก.ค. และกำหนดแผนระยะต่อไปจะมีการหารือร่วมกับ 5 จังหวัดปริมณฑลเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วมในแต่ละจังหวัด ซึ่งพบว่า 1.สมุทรปราการ จุดเสี่ยง 7 จุด  2.สมุทรสาคร 11 จุด 3.ปทุมธานี 24 จุด แบ่งเป็น จุดเสี่ยงจากฝนที่ตกในพื้นที่ 4 จุด จากน้ำเหนือ 20 จุด 4.นนทบุรี 26 จุด และ 5.นครปฐม 38 จุด รวมถึงติดตามความก้าวหน้ามาตรการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว

อาทิ การกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ซึ่งยังเหลืออีกประมาณ 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า การเตรียมพื้นที่รับน้ำ 13 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบางระกำ และทุ่งเจ้าพระยา 12 ทุ่งนั้น เบื้องต้นพบว่ามี 6 ทุ่งที่สามารถเป็นพื้นที่รับน้ำได้ ได้แก่ ทุ่งบางระกำ ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งพระยาบันลือ ทุ่งรังสิตใต้ รวมประมาณน้ำ 810 ล้าน ลบ.ม. 

ขณะเดียวกัน ยังได้ติดตามความก้าวหน้าความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63   ที่ใกล้จะแล้วเสร็จตามแผนแล้ว โดยมีผลดำเนินการ 1,430 แห่ง คิดเป็น 87.94 % ส่วนโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี’63 และแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ (เพิ่มเติม) ที่ยังพบว่ามีความล่าช้ากว่าแผนงานจะมีการเสนอขอผ่อนผันในการขยายระยะเวลาดำเนินการไปถึงเดือนสิงหาคมต่อไป




ความคิดเห็น