"ชนเผ่า"วันนี้มีชีวิตอยู่กับป่าอย่างลงตัว

พื้นที่โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จากภูเขาหัวโล้น สู่ป่าที่สมบูรณ์ วันนี้ชีวิตคน สัตว์ และป่าไม้ อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนน้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการ สร้างป่าคืนธรรมชาติให้กับราษฎรและประเทศชาติ  เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ปัจจุบันมีน้ำสะอาดและปริมาณเพียงพอแก่การอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี พบสัตว์ป่าหายากกลางป่า ดัชนีชี้วัดถึงความสมบูรณ์หลายชนิดสัตว์


นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา ได้เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเชิญสิ่งของพระราชทาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 566 ถุง  ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จาก 5 โครงการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้แก่  สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน , โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ,โครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้อำเภอเชียงดาว-ไชยปราการ (ห้วยจะค่าน) ,โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยฟ้าห่มปก และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม


รวมทั้งมอบให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่โครงการฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ เผ่าอาข่า และเผ่ามูเซอ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี อย่างหาที่สุดมิได้  นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ราษฎรชาวชนเผ่าในพื้นที่สูงมีชีวิตและดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างลงตัวในแบบคนสร้างป่า คนอยู่กับป่า อย่างเกื้อกูลกัน

นายราชันย์ บัวตรี เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ทำหน้าที่หัวหน้าโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริห้วยเมืองงาม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าเมื่อ 12 มกราคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  เสด็จพระราชดำเนินมายังที่ตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ และมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้น เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่สูง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลาย รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับราษฎร โดยการดำเนินงานสนองพระราชดำริได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) มาอย่างต่อเนื่อง


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการในทุกแนวทาง จวบจนถึงวันนี้ก็ประสบความสำเร็จถึง 3 มิติ คือ 1)ราษฎรได้เรียนรู้การทำเกษตรที่ดีและถูกต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและนำไปปรับใช้ สามารถเลี้ยงตนเองได้ มีรายรับเพิ่มขึ้น 2)น้ำในพื้นที่นอกจากมีตลอดทั้งปีแล้วยังมีคุณภาพที่ดี

จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำถึง 10 ครั้งที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงฤดูแล้งน้ำก็ยังเพียงพอต่อการเลี้ยงชุมชนกว่า 4,000 ครอบครัว ทั้งอุปโภคและบริโภค  พื้นที่กว่า 900 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ในแหล่งน้ำพบเต่าปูลู จิ้กจกน้ำ (ซาลาเมนเดอร์)  จิ้งแหลนห้วยท้องแดง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากและจะอาศัยอยู่เฉพาะในแหล่งน้ำที่มีความสะอาดเท่านั้น  ส่วนในผืนป่าพบเก้ง อีเห็น ไก่ป่า หมูป่า นกนานาชนิดจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยหากิน 

“ทางโครงการฯ จะน้อมนำพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการฟื้นฟูป่าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ 100 %  ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน และให้ชุมชน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย  บ้านบะหลา  บ้านห้วยเต่า  บ้านห้าหก บ้านอาซู และบ้านอาเทอ ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา เผ่าลีซอ เผ่าอาข่า และเผ่ามูเซอ มีรายได้จากป่าตามความเหมาะสมอย่างยั่งยืน ส่วนผลผลิตของราษฎรตอนนี้มีตลาดรองรับทั้งผู้ซื้อที่เข้ามารับซื้อถึงแปลงปลูกและส่งไปจำหน่ายในตลาดร้อยใจรัก ทำให้ผลผลิตไม่ตกค้างและมีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง “นายราชันย์  กล่าว


นางอาซือมา แสนย่าง  อายุ 43 ปี หนึ่งในราษฎรชนเผ่าชาวลีซอ ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า ได้เข้ามาทำงานในโครงการฯ เป็นเวลา 18 ปีแล้ว ทำให้มีรายได้ที่แน่นอนและมีความรู้จากงานที่ทำ คือ การทำเกษตรที่ถูกต้อง และได้นำความรู้นี้ไปทำในพื้นที่ของตนเองที่ทางโครงการฯ จัดสรรพื้นที่ให้จำนวน 9 ไร่ ทั้งปลูกผัก ปลูกข้าวไว้กินเอง และทำไร่ เก็บผลผลิตไปขาย ทำให้มีรายได้ที่แน่นอนกว่าเมื่อก่อน สามารถส่งลูก 3 คน เรียนหนังสือได้อย่างไม่ขัดสน

"โครงการนี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเจริญ เพราะมีการดูแลป่าไม้ และทำให้มีน้ำในพื้นที่ ขอขอบคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ไม่ทิ้งประชาชนขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ" นางอาซือมา   กล่าว


นายพิชิต หลี่จา อีกหนึ่งราษฎรชนเผ่าลีซอที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่จะเป็นภูเขาหัวโล้น ตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาก็ได้เกิดโครงการฯ และท่านบอกว่าชาวบ้านจะต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า ดูแลต้นไม้ให้ดีขึ้น ประชาชนในพื้นที่ก็ช่วยกันทำตามที่ท่านกล่าว ปลูกต้นไม้เพิ่มช่วยดูแลให้เติบโต จนปัจจุบันป่ามีความสมบูรณ์เขียวขจี มีของป่าจำนวนมากให้ชาวบ้านได้เอามาใช้ เอามากิน ทำให้ไม่อดอยาก

"เดียวนี้ทาง กศน. เข้ามาสอนให้ชาวบ้านอ่านหนังสือได้ เขียนหนังสือเป็น บางคนเมื่อก่อนเขียนชื่อตนเองไม่ได้ตอนนี้เขียนกันได้หมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีการสอนให้รู้จักการจักสานตะกร้า ทำเก้าอี้ ตีเหล็กทำมีด เพื่อใช้งานและส่วนหนึ่งก็นำออกไปขาย ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น" นายพิชิต หลี่จา กล่าว





ความคิดเห็น