"กรมชลประทาน"กางแผนรับน้ำหลากกำชับพันธกิจช่วยประชาชน

หลังจากพ้นฤดูแล้งที่ต้องบริหารให้ผ่านวิกฤติมาแบบไม่ง่ายนัก เข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 ภายใต้การพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 5-10 และ ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. อาจจะมีพายุ 1-2 ลูกเข้าประเทศ การวางแผนรับมือของกรมชลประทาน สำหรับสถานการณ์ที่ย้อนแย้งแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝน  ในปี 2563 จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-10 กรมจึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ  ซึ่งปีนี้ส่วนมากอยู่ในเกณฑ์น้อย ผนวกกับการพยากรณ์ที่คาดว่าอาจจะมีพายุ 1-2 ลูกเข้าไทยในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. มาเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างในช่วงเดือนที่อาจมีพายุเข้าโดยแนวการเคลื่อนของพายุ กรมอุตุฯ คาดว่าน่าจะเป็นภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ต้องใช้หลักบริหารแบบไดนามิก คือการระบายน้ำออกโดยคำนึงถึงน้ำที่จะไหลเข้าลงอ่างตลอดฤดูฝนหลัก ๆ ให้เน้นเก็บน้ำฝนสำรองไว้เพื่อฤดูแล้งในรอบหน้าจะระบายออกเมื่อฝนทิ้งช่วงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศที่มี ณ วันที่ 22 ก.ค. 63 รวม 31,607 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 42 เป็นน้ำใช้การได้ 7,96 ล้านลบ.ม.


หากพิจารณาปริมาณน้ำรายเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนสำคัญ ๆ มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 เพราะฉะนั้นหลักบริหารในขณะนี้คือ การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกใช้น้ำฝนและน้ำท่าเป็นหลัก และในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะใช้ให้น้อยที่สุดเพื่อสงวนน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้า และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ

ในช่วงการเกิดพายุ กรมชลประทานจะใช้ระบบโทรมาตร 1,259 แห่งทั่วประเทศ คาดการณ์ปริมาณน้ำที่ผ่าน แต่ละพื้นที่เพื่อใช้ในการบริหารน้ำรายพื้นที่ หรือรายลุ่มน้ำ และให้ทุกสำนักชลประทานร่วมวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะเฝ้าระวังพื้นที่ท่วมซ้ำซาก รวมถึงให้ตรวจสิ่งปลูกสร้างไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และกำจัดวัชพืชตามแผนงาน ที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ได้เตรียมใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติสำหรับตัดยอดน้ำ หน่วงน้ำ เก็บน้ำ ที่ไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้แก้มลิงทุ่งเจ้าพระยาทั้งหมด 12 ทุ่ง กับทุ่งบางระกำ พื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา 12 ทุ่ง พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. หรือเกือบ  2 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เริ่มเพาะปลูกแล้วจะเก็บเกี่ยวปลาย ก .ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะเริ่มลงจากภาคเหนือมายังภาคกลางตอนบน


หากมีกรณีต้องผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงของลุ่มน้ำเจ้าพระยาซ้าย-ขวา กรมจะมีการประสานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดเพื่อหารือกับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่แก้มลิงตอนบนคือทุ่งบางระกำ พื้นที่ 2.65 แสนไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลบ.ม.ซึ่งกรมใช้เป็นบางระกำโมเดล เริ่มปี 2560 ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 1 เม.ย. เพื่อเก็บเกี่ยวก่อนเดือน ส.ค.

หลังจากนั้นจะใช้หน่วงน้ำหลากในช่วงกลาง ส.ค. เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม สุโขทัย พิษณุโลก ซึ่งที่บางระกำเป็นชุดความสำเร็จของกรม ที่ใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นกรมจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมอาชีพ เช่น ประมงและปศุสัตว์ ในโครงการปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ประชาชนในพื้นที่ ในปี 2563

เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยสามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก 3.8 แสนไร่ เหลือ 2.6 แสนไร่ แผนจัดสรรน้ำประมาณ 310 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรไปแล้ว 240 ล้านลบ.ม.  ปีนี้ คาดใช้พื้นที่รับน้ำประมาณ 1.4 แสนไร่ สามารถรับน้ำได้ประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ


ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายอ่างมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ร้อยละ 30 ทั้งลุ่มน้ำมูลและน้ำชี กรมได้มีการเตรียมการรับมือ หากกรณีมีปริมาณน้ำมากหรืออุทกภัยโดยการเตรียมศูนย์ส่วนหน้าของกรมไว้ในพื้นที่ที่  จังหวัดอุบลราชธานี และแผนการเคลื่อนกำลังของเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำสำหรับช่วยเหลือทุกพื้นที่

“กรมชลประทานจะทำหน้าที่เต็มกำลัง ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงวิกฤติท่วมหรือแล้งที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนช่วยกันทั้งรัฐ ประชาชนและเอกชน ทำให้ผ่านทุกสถานการณ์มาได้  ดังนั้น ขณะนี้กรมยังต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการประหยัดการใช้น้ำต่อเนื่อง เพื่อสงวนน้ำไว้ให้มากที่สุด”


สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ  ณ วันที่ 22 ก.ค. 2563 จำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างร่วมกัน 31,607 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 7,964 ล้าน ลบ.ม. ในลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก  มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,396 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 700 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 4 ของความจุแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี2563 ทั่วประเทศมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูรวม 31,352 ล้าน ลบ.ม.

เป็นน้ำชลประทาน 11,975 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 19,377 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นอุปโภคบริโภค 2,980 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,654 ล้าน ลบ.ม. การเกษตร 4,974 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม  367 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 63 ณ 22 ก.ค. 63 ได้จัดสรรไปแล้ว 6,147 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำ ที่ต้องจัดสรร 5,828 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 49






ความคิดเห็น