สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟสภาพคล่องเพิ่ม หลังเอ็มโอยูเจ้าหนี้

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) กล่าวว่า กรมได้มีการกำกับติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ (สอ.สรฟ.) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรรมการสหกรณ์ในชุด7,8,9,10 และ11 ทั้งทางแพ่ง      และอาญา  ซึ่งกรณีของ สอ.สรฟ.นี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ออกระเบียบว่าด้วยการให้กู้เงิน  ให้แก่สมาชิก


โดยกำหนดระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้พิเศษ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 ซึ่งมีการกำหนดวงเงินการให้กู้ยืมต่อรายค่อนข้างจะสูงมากและระยะการส่งชำระคืนค่อนข้างนานมาก โดยระเบียบดังกล่าว ทาง สอ.สรฟ.ได้ส่งสำเนาระเบียบเงินกู้ให้กรมทราบ เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2554 โดยขณะนั้น กรมได้ให้ข้อสังเกตและมีคำแนะนำให้ระวังเรื่องการปล่อยกู้ที่อาจกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ แต่สอ.สรฟ. ก็ยังยืนยันในการถือใช้ระเบียบดังกล่าวต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่  21 กันยายน 2559 ผู้ตรวจการสหกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์              ได้ตรวจสอบพบว่า กรรมการบริหารสอ.สรฟ. ได้ออกเงินกู้ให้แก่สมาชิก จำนวน 6 ราย 199 สัญญา            วงเงิน 2,279 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559  นายทะเบียนสหกรณ์จึงได้ออกคำสั่งให้คณะกรรมการฯ แก้ไขข้อบกพร่องในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยสั่งให้ระงับการจ่ายเงินกู้พิเศษ จนกระทั่งไปสู่การมีคำสั่งปลดคณะกรรมการฯชุดที่ทำให้สอ.สรฟ.เสียหายทั้งคณะ


พร้อมกับแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวเข้าไปบริหารงานแทนคณะกรรมการชุดเดิมที่ถูกปลด และต่อมาที่ประชุมใหญ่ของสอ.สรฟ.ได้มีการเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ คือ ชุดที่ 13 และชุดที่ 14 ขึ้นมาเพื่อบริหารสหกรณ์ และนำมาสู่การแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว ทั้งทางแพ่งและอาญา รวมถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานให้สอ.สรฟ.ทำข้อตกลงกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้ง 14 แห่ง โดยได้ปรับงวดการชำระหนี้กันใหม่

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สอ.สรฟ. มีสภาพคล่องเหลือและสามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้บริการสมาชิกและมีเงินที่จะชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง การดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ   จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีการติดตามเพื่อแก้ไขปัญหาสอ.สรฟ.อย่างต่อเนื่องและจริงจัง


ปัจจุบัน สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ มีสภาพคล่องจากรายรับทุนเรือนหุ้นและการชำระหนี้เงินกู้      องสมาชิกและดอกเบี้ย ณ เดือน พ.ค. 2563 ประมาณ 45-48 ล้านบาท และสอ.สรฟ. มีภาระชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้  เดือนละ 42-45 ล้านบาท คงเหลือเงินต่อเดือน 2-3 ล้านบาท สามารถที่จะจ่ายเงินให้กับสมาชิกที่ขอถอนได้

อย่างไรก็ตาม กรมยังได้ติดตามผลกระทบต่อสหกรณ์เจ้าหนี้ 15 แห่งด้วย พบว่า ในเดือน พ.ค. 2563  สหกรณ์เจ้าหนี้ที่มีทั้งการให้เงินกู้ยืมและฝากเงินกับสอ.สรฟ. ทั้ง 15 สหกรณ์  ได้ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 เสร็จเรียบร้อยแล้วทุกสหกรณ์ ปรากฏว่าทุกสหกรณ์มีผลกำไร สามารถจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกได้ ซึ่งมีอัตราสูงกว่าหรือเท่ากับปีที่ผ่านมาจำนวน 8 สหกรณ์ และต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 7 สหกรณ์ และได้มีการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้รับชำระหนี้


โดยการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและหรือ ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลหรือทุนสำรองความเสี่ยง จำนวน 9 สหกรณ์ และไม่ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 6 สหกรณ์ เนื่องจากยังได้รับการชำระหนี้อยู่ จะเห็นได้ว่าสหกรณ์เจ้าหนี้ยังคงไม่ได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินแต่อย่างใด ซึ่งความพยายามในการสร้างกระแสสหกรณ์ล้มนั้น มีแต่จะส่งผลเสียให้กับระบบสหกรณ์โดยรวม

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์นั้น ยอมรับในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาสะสมมาต่อเนื่อง ทำให้กรมต้องมีการแก้ไขพรบ.สหกรณ์ 2542 โดยมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 เพื่อให้มีอำนาจในการเข้าไปกำกับการบริหารงานของคณะกรรมการสหกรณ์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมว่าด้วยการกำกับความเสี่ยงของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน


ขณะนี้กรมได้เสนอร่างกฎกระทรวงในการออกเกณฑ์กำกับ จำนวน 12 เรื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจร่าง เพื่อนำไปสู่การออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้ต่อไป โดยการกำกับในครั้งนี้  ก็เพื่อป้องกันการเกิดความเสี่ยงในการบริหารงานของคณะกรรมการ ซึ่งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์โดยรวม

นอกจากนั้นในส่วนของนายทะเบียนเอง จะต้องทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงได้มีการออกเกณฑ์กำกับให้นายทะเบียนสหกรณ์ต้องทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน และรวมถึงได้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทำงานของผู้ที่ทำหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย  โดยให้รองอธิบดีกรมมส่งเสริมสหกรณ์  เป็นประธาน เพื่อติดตามการทำงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ และป้องกันปัญหาการทุจริต  ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งหากเกิดปัญหาใดที่เกินศักยภาพของจังหวัด ทางส่วนกลางจะเข้าไปช่วยแก้ไขในทันที








ความคิดเห็น