สทนช.แจงคืบหน้าพัฒนาแบบจำลองจัดสรรน้ำอีอีซี

สทนช.จับมือเกษตรฯ-จุฬาฯ พัฒนาแบบจำลองความคุ้มค่าการจัดสรรน้ำ เน้นพื้นที่สุ่มเสี่ยงจากภัยแล้ง หาข้อสรุปจัดสรรน้ำที่ทั่วถึง-เป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเปิดโครงการนำร่องศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำกับระบบประเมินด้านเศรษฐกิจและสังคมและพัฒนาระบบบัญชาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติ


การศึกษาโครงการนำร่องฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563  มีระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน โดยสาระสำคัญของการศึกษาประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ส่วนแรกเป็นการทบทวนสภาพทางวิศวกรรม เศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อมของ 22 ลุ่มน้ำหลัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. .... ไปเมื่อวันที่  8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนที่สองเป็นการคัดเลือกพื้นที่นำร่อง


โดยผลการทบทวนข้อมูลและวิเคราะห์ความสำคัญเชิงพื้นที่ พบว่า ลุ่มน้ำสาขาชายฝั่งทะเลตะวันออก (ลุ่มน้ำสาขา 1) คลองใหญ่ แม่น้ำประแสร์ และคลองโตนด  ซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นพื้นที่เปราะบางมีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงกายภาพ สภาพอากาศ และด้านเศรษฐกิจสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาจึงยกขึ้นมาเป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาครั้งนี้ และต้องมีการหาข้อสรุปเพื่อกำหนดนิยามของคำว่า “ภาวะปกติและภาวะวิกฤติ” ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ศึกษาดังกล่าวด้วย

สำหรับส่วนสุดท้าย เป็นการพัฒนาแบบจำลองที่ผสมผสานแนวคิดด้านการจัดสรรน้ำกับความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (Hydroeconomic Model) เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดสรรน้ำโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติต่อไป 


ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้จัดการโครงการ ระบุเพิ่มเติมว่า การประชุมเปิดโครงการฯ ในวันนี้ ใช้รูปแบบประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนราชการและมหาวิทยาลัยเข้าร่วมมากกว่า 50 หน่วยงาน และมีเป้าหมายในการขอรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในเบื้องต้นเพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาด้วย



นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า “ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสทนช.และมีกลไกการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยด้านน้ำ โดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นด้วยที่ สทนช. จะนำแบบจำลองมาสนับสนุนการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารประเทศมองเห็นภาพรวมของผลกระทบและความคุ้มค่าและใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจการดำเนินการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยจากน้ำที่เป็นระบบและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ดร.สมเกียรติ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดย สทนช. ได้อำนวยการบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาว สทนช. ต้องการเครื่องมือที่เป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อนำไปสู่การเจรจาตกลงการจัดสรรน้ำ การใช้น้ำ บนหลักวิชาการมากขึ้น โดยในงานศึกษานี้ สทนช. เน้นให้มีการจำลองสถานการณ์ภายใต้หลักความเหมาะสมเพื่อคัดเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด (Optimization) และให้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ร่วมด้วย ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม และการเมือง  โดยการพัฒนาแบบจำลอง Hydroeconomic นี้ ต้องสามารถนำมาใช้ได้จริง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงตามเป้าหมายที่วางไว้





ความคิดเห็น