เส้นทางข้าวเปลือกอินทรีย์....สู่สินค้าคุณภาพ


นายทรรศนะ ลาภรวย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวและรายได้ของชาวนา โดยจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เพื่อบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน กรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านข้าวและพี่น้องชาวนา ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร


โครงการสำคัญเหล่านี้มีการเชื่อมโยงบูรณาการกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยแต่ละปีทำรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการส่งออกข้าว มีการแข่งขันสูงทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีศักยภาพในการผลิตข้าวสูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาการจำหน่ายข้าวไปยังต่างประเทศของไทยที่มีราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในด้านการพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าวและเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในการผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเป็นโอกาสดีที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวมาพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของชาวนาไทยให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งกรมการข้าว โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Certification Authorize : CA)


กองตรวจสอบ รับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ในฐานะหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่ได้รับการรับรอง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17065 ได้ขับเคลื่อนงานด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพครบวงจร ตั้งแต่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวและข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าว GAP ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว และการผลิตข้าวสาร Q (Q Product) ทำให้เกิดระบบตามสอบ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ มีเป้าหมายพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ได้ดำเนินตรวจประเมินและให้การรับรองกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 4,842 กลุ่ม เกษตรกร 102,566 ราย พื้นที่ 911,591.25 ไร่

สำหรับจังหวัดสุรินทร์ผ่านการรับรอง จำนวน 510 กลุ่ม เกษตรกร 9,460 ราย พื้นที่ 96,391.75 ไร่ นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานข้าวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Rice Certification System : Rice Cert) มีกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่กระบวนการรับรอง ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ขอบข่ายแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปและคัดบรรจุข้าวอินทรีย์ 


จนได้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพ (Q Product) ผ่านการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้บนบรรจุภัณฑ์สินค้าข้าวคุณภาพ (Q Product) ซึ่งกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอย่างครบวงจร จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตข้าวทั้งระบบของประเทศ สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นทั้งต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค


นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ว่า ขณะนี้มีการทำ MOU ระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 536 กลุ่ม เกษตรกร 13,168 ราย มีการซื้อขายข้าวรวม 5,975.71 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 88.802 ล้านบาท สำหรับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เป็น 1 ในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ จำนวน 183 กลุ่ม


โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์  1 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด บริษัท เจ พี ไรซ์ อินเตอร์เนชันแนล (1998) จำกัด บริษัท ไชยศิริ ไรซ์ อินเตอร์เทรด หจก.สุรินทร์ไชยศิริ สหกรณ์อินทรีย์ทัพไทย โรงสีข้าววิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบุฤาษี สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด บริษัท พูนผล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด

โดยข้อมูลการรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ปีการผลิต 2562/63 พบว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่นำข้าวมาขายจำนวน 95 กลุ่ม ปริมาณการซื้อขายข้าวอยู่ที่ 819.03 ตัน ราคารับซื้อเฉลี่ย 17.45 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารับซื้อทั้งสิ้น 13.650 ล้านบาท







ความคิดเห็น