คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เร่งพัฒนาบัณฑิตสายอาชีพเฉพาะทางที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในเครือข่ายสาขา Geospatial Intelligence, GIS, Remote Sensing หรือ ภูมิสารสนเทศอัจฉริยะ หวังส่งต่อบัณฑิตให้ก้าวสู่การเป็น Startup หรือผู้ประกอบการธุรกิจเกิดใหม่ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในภาพรวม ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะบางกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ในการช่วยตัดสินใจวางแผน
ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร คณบดี คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกอาชีพอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยในวงการธุรกิจทั้งในและต่างประเทศล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด ซึ่งคณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่าในฐานะสถาบันการศึกษาด้าน Geospatial แห่งเดียวในประเทศไทยที่ต้องการให้นิสิตมีความเป็นเลิศแข่งขันกับนานาชาติ
โดยยกวิทยฐานะจากภาควิชาภูมิศาสตร์ขึ้นเป็นคณะภูมิสารสนเทศ และมีความพร้อมในการผลิตบัณฑิตในทุกๆ มิติ โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของโลกและอวกาศ ไปสู่การอธิบายและคาดการณ์ด้วยเทคโนโลยีข้อมูลแบบ Geospatial Intelligence ซึ่งข้อมูลนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ทั้งจากโทรศัพท์มือถือ IoT หรืออุปกรณ์ตรวจวัดสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ (Internet of Things) โดรน (Drone) ภาพถ่ายดาวเทียม (Satellite age) ซึ่งได้จากการบันทึกข้อมูลของดาวเทียมด้วยกระบวนการสำรวจระยะไกล หรือ รีโมตเซ็นซิ่ง (Remote Sensing)
คณะฯ มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อตลาดอาชีพ ในปัจจุบัน พร้อมกับเชื่อมโยงแนวทางการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์การทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโท-เอก กับสถาบันสารสนเทศวิศวกรรมการสำรวจ การทำแผนที่และภูมิสารสนเทศ (LIESMARS : ลิสมาร์) ซึ่งเป็นสถาบันของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก และสถาบัน LIESMARS ได้รับการยอมรับทางด้านการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศจีน เพื่อให้นิสิตไปเสริมสร้างประสบการณ์ตรงและพัฒนาธุรกิจ โดยการค้นคว้าและวิจัยเป็นหลัก R & D for Enterprise”
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การเรียนการสอนสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน บัณฑิตของคณะฯ ที่จบไปแล้วสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพใหม่ หรือทำงานในองค์กรที่เน้นการพัฒนาด้วยระบบเทคโนโลยีได้หลากหลายมากขึ้นในธุรกิจประเภท Startup เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ที่รองรับธุรกิจด้านไอที เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น แอพพลิเคชั่น ต่าง ๆ และที่สำคัญไปกว่านั้นการสร้างบัณฑิตให้เป็น Startup ยังมีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมไปถึงสามารถสร้างรายได้ในอนาคต
จากความมุ่งหวังในการพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างแท้จริง ด้วยการเรียนรู้แบบเชิงปฏิบัติการ (Work Integrated Learning) คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ EEC สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มูลนิธิปิดทองหลังพระ เมืองพัทยา (การจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลเมืองพัทยา)
การจัดทำ Application เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยใช้ Geospatial Intelligence และอีกหลากหลายเครือข่ายความร่วมมือ จึงทำให้บัณฑิตที่จบจากคณะฯ สามารถเข้าทำงานได้ในหลาย ๆ หน่วยงานของภาครัฐ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม หรือ บริษัทสำรวจ บริษัทที่ปรึกษาวางแผน เป็นต้น
การศึกษาในหลักสูตรภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดเป็นวิทยากรภูมิสารสนเทศเชิงประยุกต์ที่พร้อมใช้งานในระดับอาเซียนอีกด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น