"เฉลิมชัย"ร่วมเวทีเอฟเอโอประกาศร่วมมือทุกมิติ

"เฉลิมชัย"กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม FAO สมัยที่ 35 ผ่านระบบ VDO Conference มุ่งพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO ทุกมิติ


นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (FAO Regional Conference for Asia and the Pacific) สมัยที่ 35 ระดับรัฐมนตรี (Ministerial Level Meeting) ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Meeting) ระหว่างวันที่ 3 - 4 กันยายน 2563 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การประชุมในครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นอกจากจะเข้าร่วมการประชุมฯ แล้ว ยังมีโอกาสได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระประเด็นที่ประเทศสมาชิกและภูมิภาคให้ความสำคัญ (Prioritization of Country and Regional Needs)

ประเทศไทยได้เน้นย้ำ 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) ผลกระทบจากโรคCOVID-19 ต่อระบบอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภค 2) ความสำคัญของ“เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่จะช่วยพัฒนาระบบอาหารและการเกษตร เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี โดยประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม” 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ผลิตกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร 3) “โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่


4) นโยบาย “Four Quick Win” เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรใน 4 แผนงาน 5) สนับสนุนการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ และ 6) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดิน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO และประเทศสมาชิก ผ่านโครงการความร่วมมือ South-South Cooperation และ Hand-in-Hand Initiative เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันอีกด้วย

มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชา เอฟ เอ โอ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
สมัยที่ 35 ในวันนี้ จากสถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลก นอกจากความท้าทายจากโรคระบาดแล้ว ถึงเวลาที่ทั่วโลกจะต้องปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการบริโภคอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน


ประเทศไทยได้ตระหนักดีว่า “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตร เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม” 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ผลิต กับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร เช่น การเกษตรแม่นยำ การทำฟาร์มอัจฉริยะสำหรับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตขนาดกลาง

ในปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย เกษตรกรรุ่นใหม่จึงเป็นอนาคตของภาคเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนิน “โครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ และ SME ที่ต้องการทำการเกษตรในพื้นที่ โดยจัดการฝึกอบรมให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจเกษตร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้วางแผนในการผลิตและการตลาด รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาผสมผสาน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างระบบเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรม


รวมทั้ง ได้เร่งดำเนิน นโยบาย “Four Quick Win”เพื่อปฏิรูปภาคเกษตรใน 4 แผนงานหลัก ได้แก่ (1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่บ้านประมง และฟาร์มเกษตร) (2) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคเกษตร (3) การพัฒนาระบบ E-Commerce สำหรับสินค้าเกษตร และ (4) การพัฒนาศูนย์บริการข้อมูล Big Data ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบข้อมูลการเกษตร ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตสามารถตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูก การผลิต และการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญในนโยบายด้านการประมง และสนับสนุนการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ประเทศไทยต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU Fishing เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรในท้องทะเลของเราให้คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์


ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดิน ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรน้ำและดินได้ถูกนำไปใช้อย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด  ประเทศไทย ร่วมกับ FAO และ สมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) ขอเชิญชวนประเทศสมาชิก สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนใจ ส่งผลงานการจัดกิจกรรม “วันดินโลก” วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เข้าประกวดเพื่อรับ “รางวัลเหรียญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล วันดินโลก” ในโอกาสวันดินโลกประจำปี 2563

ประเทศไทยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ปฏิรูปภาคเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ และความปลอดภัยของอาหาร เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยดียิ่งขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ประเทศไทยพร้อมที่จะพัฒนาระบบอาหารและการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน ประเทศไทยยินดีที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือกับ FAO และประเทศสมาชิก ผ่านโครงการความร่วมมือ South-South Cooperation และ Hand-in-Hand Initiative เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน










ความคิดเห็น