กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤต

สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทย เติมน้ำในอ่างฯได้ไม่มากนัก กนช.สั่งให้เร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคุมวิกฤตแล้ง คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง พร้อมสั่งเฝ้าระวังอ่างฯขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศ ปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่ง จะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 



ทั้งนี้คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 24 เท่านั้น จึงได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 

เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ต่อไป รวมถึงได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดรู้ คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 42,961 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณการกักเก็บ โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% รวม 105 แห่ง เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง 

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 92 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2563/2564 (วันที่ 1 พ.ย. 63) จะมีปริมาณน้ำรวม 42,019 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่าง 



โดยภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำคาดการณ์ 17,954 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 13,062 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,013 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,205 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,031 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 754 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าอิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงที่่ผ่านมา ประกอบด้วย พายุซินลากูน ร่องมรสุม และพายุโนอึล จะช่วยเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ  

ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 จะยังคงมีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่งดังกล่าว จะปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณในปีที่ผ่านมา  ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง 

ดังนั้น จำเป็นจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจะสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังจะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย



จากมติที่ประชุม กนช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กอนช. จัดทำแผนและมาตรการในการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563/64 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งให้หน่วยงานแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง 

เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สทนช.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64  และให้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เพื่อสรุปนำเสนอต่อคณะทำงานอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม






ความคิดเห็น