'เฉลิมชัย' แจงนโยบายด้านเกษตรต่างประเทศแก่คณะทูตานุทูต

'เฉลิมชัย' แจงนโยบายด้านเกษตรต่างประเทศแก่คณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย ชูนโยบาย 3 ด้าน "ความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนของภาคการเกษตร" พร้อมเดินหน้าจับมือนานาประเทศ ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการแถลงนโยบายด้านการเกษตรให้แก่คณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับเกียรติจากคณะทูตานุทูต ประจำประเทศไทย รวม 62 ประเทศ ได้แก่เอกอัครราชทูต 25 ประเทศ อุปทูต 11 ประเทศ ผู้แทน จำนวน 27 ประเทศ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ จำนวน 5 องค์กร รวม 107 คน 



นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าว สุนทรพจน์  เนื่องในโอกาสการแถลงนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านการเกษตรต่างประเทศของไทย โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงฯ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐร่วมงานในครั้งนี้ 

คณะผู้บริหารกระทรวงฯ ได้นำคณะทูตานุทูตและผู้แทนหน่วยงานต่างประเทศ เดินชมบูธนิทรรศการภายใต้แนวคิด “Safety, Security & Sustainability for Resilience Agriculture” จัดโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ โดยเอกอัครราชทูต อุปทูต/กงสุล ตลอดจนผู้แทนกลุ่มสหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศ ได้ให้ความสนใจบูธนิทรรศการซึ่งแสดงถึงศักยภาพการเกษตรของไทย และผลสำเร็จของสินค้าเกษตรในเวทีตลาดโลกเป็นอย่างมาก



นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความมุ่งมั่นที่จะนำพาภาคเกษตรไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยต่อยอดและปรับเปลี่ยนจากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของพี่น้องเกษตรกรในทุกมิติ และวางรากฐานโครงสร้างให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม 

มีนโยบายด้านการเกษตรและอาหารที่สนับสนุนและมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยมีกรอบการทำงานในการขับเคลื่อนร่วมกันใน 3 ด้าน หรือที่เรียกว่า “3 S” คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) โดยจะต้องมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ โดยการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหารครบตลอดห่วงโซ่อาหาร จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร 



โดยการใช้มาตรฐาน GAP และ GMP โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงไปกำกับดูแล ตามสอบ ทั้งระดับฟาร์ม ระดับไร่นา และตรวจสินค้าเกษตรที่ส่งออก อย่างไรก็ตาม ได้สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ในด้านของ ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สามารถส่งออกทั้งในรูปแบบแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไปยังนานาประเทศ ตอกย้ำศักยภาพของการเป็นครัวของโลก และความพร้อมของการเป็นแหล่งสำรองอาหารของอนุภูมิภาคอาเซียน 

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายห้ามการส่งออก มีแต่มาตรการที่จะทำให้เป็นไปอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินการได้ตามกลไกของการตลาด และพร้อมที่จะร่วมมือผ่านกลไกภาครัฐหากมีความจำเป็น

ได้มุ่งเน้นทั้งในเรื่องของความมั่นคงทางชีวภาพ ซึ่งสามารถป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร การป้องกันควบคุมหนอนกระทู้ลายจุด เป็นต้น ซึ่งได้สนับสนุนและตัดสินใจในมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น 

แต่พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือเพื่อนบ้านและมิตรประเทศทั้งหลายด้วยเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการลดความยากจนของเกษตรกร การขจัดความหิวโหย ความมั่นคงในอาชีพเกษตร รวมถึงความมั่นคงของรายได้ของเกษตรกร ได้มีนโยบายตลาดนำการผลิต 

โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนที่จะเข้ามาเพิ่มช่องทางในการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ถือเป็นการใช้กลไกทางการค้า เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยจนถึงเกษตรอุตสาหกรรม

กระทรวงเกษตรฯ ยังพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการในการใช้แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ โดยร่วมมือกับผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ลาซาด้า ช๊อปปี้ อาลีบาบา และตลาดเกษตรกรออนไลน์ ในการยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ การขายสินค้าเกษตรโดยตรง รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า 



สำหรับตลาดออฟไลน์ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีการลงนาม MOU ร่วมกับซุบเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ของไทย เช่น แม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี และตลาดไท มุ่งเน้นสินค้าคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ อีกทั้งยังพัฒนาศักยภาพเกษตรกร โดยการตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (AIC) โดยมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (Big Data) เป็นต้น

สำหรับในส่วนของ ความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) กระทรวงเกษตรฯ มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรประมง และการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย

 


นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ริเริ่มโครงการในหลาย ๆ ด้าน โดยการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากโลกร้อนและการสร้างมาตรฐานสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน เช่น โครงการข้าวลดโลกร้อน การทำมาตรฐานข้าวยั่งยืน และการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน เป็นต้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ในทุกกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรสู่เกษตรกรมืออาชีพ สร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน 



โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมีการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน 

กระทรวงเกษตรฯ จะไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรของไทย ให้ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในสายตาโลก พร้อมเคียงข้าง ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือทำ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง พร้อมก้าวเดินร่วมกันในทุก ๆ สถานการณ์ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องเกษตรกรไทยและความมั่นคงทางอาหารของผู้บริโภคทั่วโลก








ความคิดเห็น