ไทยประชุมรมต.ความมั่นคงอาหาร APEC 2020

ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร APEC 2020 รับมือผลกระทบโควิด 19 ชูนโยบาย3S-เกษตร4.0 ยืนยันความพร้อมเป็นแหล่งอาหารสำรองอาเซียนและครัวโลก เดินหน้าเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร APEC 2020 วันนี้ (28ต.ค) ว่า ตามที่ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วยนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Virtual Ministerial Policy Dialogue on Food Security) ร่วมกับรัฐมนตรี และผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขต เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา

มีสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ นายฉู ตงหยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายที่จะเสริมสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ทั้งด้านการตลาด การส่งเสริมเทคโนโลยี ความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงการผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากรโลก

สำหรับการประชุมผ่านระบบทางไกลดังกล่าว มีการรับรองแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค เรื่อง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความสำคัญของการดำเนินงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความร่วมมือตามความสมัครใจ 

โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ฯ ได้กล่าวถึง ผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงอาหาร การเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมง รวมทั้งห่วงโซ่อาหารในภูมิภาค ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เปราะบาง 

สมาชิกเอเปคได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือที่ต่อเนื่อง การสนับสนุนในด้านการผลิตอาหารและการเข้าถึงอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าระบบอาหารทั่วโลกยังคงเปิดกว้าง มีนวัตกรรม เชื่อถือได้ มีความยืดหยุ่น และยั่งยืน รวมทั้งการให้ความสำคัญของการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ อาทิ FAO และ WHO เป็นต้น



นอกจากนี้ ยังเน้นการอำนวยความสะดวกของสินค้าและบริการ ผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร รวมถึงปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดนที่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการค้าอาหารทั่วโลก โดยมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรเพื่อรับมือต่อโรคโควิด-19 จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โปร่งใส และต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO 

อีกทั้ง ต้องเสริมความร่วมมือและการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความสำคัญของเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เช่น การเกษตรดิจิทัล การทำฟาร์มอัจฉริยะ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากากรระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับนโยบายของไทยในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ในครั้งนี้ด้วย

ประเทศไทย ได้เน้นย้ำนโยบาย 3 ด้าน หรือ 3S ของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้แก่ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Food Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นครัวโลก (Kitchen of the World) และมีความพร้อมเป็นแหล่งอาหารสำรองอาเซียน(ASEAN Food Reserve) 

รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ AIC ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรวิถีใหม่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership (PPP)

การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารภายในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร ที่มีความพร้อมเป็นแหล่งสำรองอาหารของภูมิภาคอาเซียน

มาตรการรับมือต่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย มาตรการ แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหารของสมาชิก อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคครั้งถัดไป ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2565









ความคิดเห็น