สทนช. ลงพื้นที่ติดตามการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง วางเป้า 3 จุดสำคัญ “ปรับปรุงหนองกอมเกาะ-อ่างห้วยบ่อน้อย พัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก” รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นครพนม มุกดาหาร เน้นจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เดินทางลงพื้นที่ จ.นครพนม เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร ที่ สทนช. ได้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ปัจจุบันผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จและจะจัดให้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในเร็ว ๆ นี้
เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าและการลงทุนกับประเทศอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบกับ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area based) ระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม
สทนช.ได้คัดเลือกพื้นที่ดังกล่าวมาดำเนินการศึกษา เพื่อสร้างแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและรองรับการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างยั่งยืน โดยจากผลการประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน พบว่า ในพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจเพิเศษมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค-บริโภค
นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาอุทกภัย และอนาคตมีความจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้า (ปี 2580) พื้นที่ 3 จังหวัด จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นโดยส่วนใหญ่มาจากด้านการเกษตรและด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดย จังหวัดหนองคาย จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 73.4 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,303 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 46.1 ล้าน ลบ.ม./ปี
โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 24.92 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดนครพนม จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 92.2 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,405 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 41.7 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 34.59 ล้าน ลบ.ม. จังหวัดมุกดาหาร จะมีความต้องการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค 41.6 ล้าน ลบ.ม./ปี ภาคการเกษตร 1,832 ล้าน ลบ.ม./ปี และอุตสาหกรรม 18.3 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยภายในปี 2568 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมอีก 39.31 ล้าน ลบ.ม.
จากการศึกษาข้อมูลทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน
ตามลำดับ ดังนี้ 1.ภัยแล้งและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 2.แหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค 3.ปัญหาอุทกภัย 4.ปัญหาคุณภาพน้ำ 5.การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม และ 6.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ โดยได้กำหนดแนวจัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จำนวน 1,523 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 36,115 ล้านบาท ได้แก่ ด้านแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,251 โครงการ
ด้านแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค 135 โครงการ ด้านการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 121 โครงการ ด้านคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์แหล่งน้ำ 12 โครงการ ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ 3 โครงการ และด้านจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม 1 โครงการ
สำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ เลขาธิการ สทนช. และคณะ ได้ติดตามความก้าวหน้าแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตําบล 2 อําเภอ ของ อ.ท่าอุเทนและ อ.เมืองนครพนม รวมพื้นที่ 439,344 ไร่ ปัจจุบันจังหวัดนครพนมได้ลงนามสัญญาเช่ากับผู้พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่โคกภูกระแต ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จำนวน 1,335 ไร่
เพื่อให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การผลิตอาหารปลอดภัย อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ของชุมชน สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำบริเวณดังกล่าวในปัจจุบัน (2562) มีความต้องการน้ำภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภค รวม 3.11 ล้าน ลบ.ม./ปี ในอนาคตอีก 20 ปี จะมีการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 9.22 ล้าน ลบ.ม./ปี
แนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต) ได้แก่ การดำเนินการออกแบบระบบสถานีสูบน้ำดิบที่ฝายห้วยบ่อส่งไปยังนิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต) โดยปรับปรุงยกระดับสันฝายห้วยบ่อ 1.0 ม. อัตราสูบ 70 ลิตร/วินาที ส่งน้ำด้วยท่อส่งน้ำ HDPE เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 ม. ความยาว 3.0 กม. ไปยังสระรับน้ำดิบในพื้นที่นิคมฯ ความจุ 0.2 ล้าน ลบ.ม. โครงการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำประปาโคกภูกระแต อัตราการผลิต 500 ลบ.ม./ชั่วโมง ของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดนครพนม
จุดที่ 2 การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและแหล่งน้ำสำรองเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ่อน้อย ในพื้นที่ ต.รามราช และ ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน พื้นที่ 687 ไร่ ยกระดับเก็บกักน้ำในห้วยบ่อ 0.50 ม. ด้วยบานพับได้ (Flap Gate) ที่บริเวณอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) เพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำเป็น 2.43 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2,900 ไร่
ในอนาคตวางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยมุเค เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งใหม่ ในพื้นที่ ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ ความสูงสันเขื่อน 10.2 ม. ความยาวสันเขื่อน 2.5 กม. สามารถเก็บกักน้ำได้ 6.0 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคตเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานสองฝั่งของลำห้วยมุเค ประมาณ 4,300 ไร่ นอกจากนั้นจะช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับฝายห้วยบ่อที่จะสูบส่งไปยังสระเก็บน้ำของนิคมอุตสาหกรรม (ภูกระแต)
นอกจากนี้ ใน อีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร ก็มีการศึกษาโครงการเพื่อช่วยกักเก็บน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาภัยแล้งและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจพิเศษ ด้วย ได้แก่ 1. โครงการฟื้นฟูหนองกอมเกาะ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งเดียวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีพื้นที่ 2,900 ไร่ มีศักยภาพในด้านการอุปโภค-บริโภค การเกษตรและแหล่งน้ำสำรองของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันสภาพตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการขุดลอกนำตะกอนสะสมในหนองออกไม่ให้เกิดความตื้นเขิน ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ยกระดับเก็บกักน้ำในหนองกอมเกาะ 0.50 เมตร ขุดลอกคลองช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของหนองกอมเกาะเพิ่มเติม อีก 1 แห่ง รวมทั้งการยกระดับเก็บกักน้ำ 0.50 ม. ด้วยบานพับได้ (Flap Gate) ที่บริเวณอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ในพื้นที่ ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ
โดยเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำเป็น 11 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร โดยมีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นรวม 6,850 ไร่ ได้รับประโยชน์ 5,550 ครัวเรือน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อการประมง การวิจัยและการท่องเที่ยว 2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก จังหวัดมุกดาหาร มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 13,000 ไร่ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโครงการจะครอบคลุมการป้องกันน้ำท่วมในเขตชุมชนเมือง
การจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค-บริโภค การเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร ประกอบด้วย การก่อสร้าง ปตร.ปากห้วยมุก ในพื้นที่เทศบาลเมืองมุกดาหารเพื่อป้องกันน้ำท่วม ควบคุมปริมาณน้ำในฤดูฝน บรรเทาอุทกภัยพื้นที่ชุมชน ป้องกันการไหลย้อนจากแม่น้ำโขงเข้ามาท่วมชุมชนในพื้นที่ การก่อสร้าง ปตร.ห้วยมุก พร้อมระบบชลประทานในพื้นที่ บ.กุดโง้ง ต.มุกดาหาร
เพื่อเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งการก่อสร้างคลองส่งน้ำห้วยมุก-ห้วยโป ด้านเหนือน้ำของปตร.ห้วยมุก บ.กุดโง้ง เพื่อส่งให้ให้กับเกษตรกร ต.โพนทราย กับ ต.บางทรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยยางในพื้นที่ ต.ดงมอน ความจุ 1.16 ล้าน ลบ.ม. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยส้มกบในพื้นที่ ต.คำอาฮวน ความจุ 3.53 ล้าน ลบ.ม. การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยบงในพื้นที่ ต.โพนทราย ความจุ 2.55 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งปรับปรุงฝายลำห้วยมุกบริเวณบ้านหนองแวง ต.บ้านโคก อ.เมืองมุกดาหาร
“สทนช. จะนำแผนหลักที่ได้จากการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในภาคการเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม การใช้น้ำภาคครัวเรือน ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในอนาคต รองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น