นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ
นายสัญญา เปิดเผยว่า ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง หย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางและมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในวันที่ 6 ตุลาคม 2563 นี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวันที่ 7-9 ตุลาคม 2563 จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ นั้น
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ด้วยการให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 90 พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ (Dynamic Operation Curve )
รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ ตรวจสอบอาคารชลประทานในพื้นที่ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ที่สำคัญให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง อีกทั้งให้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว
สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนเหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(6 ต.ค. 63)มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,663 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 4,967 ล้าน ลบ.ม. จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้ของ 4 เขื่อนหลัก ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
ในขณะที่ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดไว้ว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่ฝนจะเลื่อนลงไปสู่ภาคใต้ต่อไป ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรที่ได้ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้ว งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อสำรองน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด และเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งปี 63-64
ส่วนกรณีของเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใกล้จะเต็มอ่างฯ นั้น เนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนบริเวณเขาใหญ่ ส่งผลให้มีน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง ได้สั่งการให้ระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน
ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนนั้น ในวันนี้(6 ต.ค. 63)ได้สั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จากส่วนความปลอดภัยเขื่อนของกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขุนด่านฯอย่างละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล ยังมีความมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย และสามารถเก็บกักน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้านี้อย่างเต็มศักยภาพ
ปัจจุบัน(6 ต.ค. 63) เขื่อนขุนด่านฯ มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 214 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 97 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำวันละประมาณ 7.21 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำนครนายก โดยที่สถานีวัดน้ำ Ny.1B ต.เขานางบวช อ เมืองนครนายก มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 75 ลบ.ม./วินาที (ความจุลำน้ำ 247 ลบ.ม./วินาที)หรือประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม./วัน ยังสามารถรับการระบายน้ำจากอ่างฯได้อีกประมาณ 172 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม./วัน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น