ธ.ก.ส.รวมพลังสร้าง 3 สิ่งดีงามสู่เศรษฐกิจฐานรากทดแทนคุณแผ่นดิน

ก้าวสู่ที่ปี 55 ธ.ก.ส. ประกาศรวมพลังพนักงานทั่วประเทศยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจและ COVID-19 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดีและความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน สร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศให้เติบโตและ ก้าวผ่านช่วงที่ยากลำบากมาได้อย่างยาวนาน 

เล็งดึงคนรุ่นใหม่กลับไปร่วมพัฒนา กอดบ้านเกิด กอดประเทศ ด้วยใจรัก พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 220,000 ล้านบาท กระตุ้นการลงทุนภาคชนบท ควบคู่การประสานเครือข่ายภาครัฐเอกชน เติมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการตลาด สร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในโอกาสวันสถาปนาครบรอบ54 ปี และการก้าวสู่ปีที่ 55 ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนา ภาคเกษตรและชนบทของไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” และพร้อมใจรวมพลังพนักงานทั่วประเทศกว่า 25,000 คน ยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกรในการก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภัยธรรมชาติ



เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายในการสร้าง “Better Life Better Community Better Pride” คุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนที่ดี และความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน สร้างรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศให้เติบโตมาอย่างยาวนาน แม้ในช่วงที่ยากลำบากภาคเกษตรของไทยก็ได้ช่วยโอบอุ้มให้ก้าวผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาได้ทุกครั้ง และเชื่อมั่นว่าด้วยพลังมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันเช่นเคย

ในการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ที่ทำงานในเมือง นิสิตนักศึกษาจบใหม่ ทายาทเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการและการตลาดสมัยใหม่ หันกลับมาช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยจับมือหรือทดแทนเกษตรกรในรุ่นพ่อแม่ที่มีอายุมาก เพื่อให้ภาคเกษตรเติบโตและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของทุก ๆ คนและประเทศชาติ 

ธ.ก.ส. ได้จัดกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ผ่านโครงการประกวด New Gen Hug บ้านเกิด เพื่อสื่อสารให้ คนรุ่นใหม่หันกลับมาพัฒนา กลับมากอดครอบครัว กอดประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดย ธ.ก.ส. พร้อม ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็ม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ และสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ วงเงิน 170,000 ล้านบาท 

โดยปลอดดอกเบี้ยในช่วง 3 เดือนแรก และในช่วงเดือนที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี) และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี หรือล้านละ 100 บาท เป็นต้น นอกจากนี้จะร่วมประสานเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ไม่ว่าจะเป็น กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สถาบันการศึกษา สำนักงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด เป็นต้น ในการช่วยเติมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการทางการผลิต การตลาด รวมถึงงบประมาณที่จะช่วยรองรับพื้นฐานการผลิต สร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ลงทุนต่อไป

นายสุรชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงอุทกภัยที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้มอบนโยบายให้สาขาจัดทีมเข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยการจัดถุงยังชีพ การมอบเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต บ้านเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งสำรวจความเสียหายเพื่อรายงานส่วนกลางและรัฐบาลในการกำหนดแนวทางการช่วยเหลืออื่น ๆ ต่อไป โดย ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ไปแล้ว ดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน เพื่อลดภาระและผ่อนคลายความกังวลในช่วงวิกฤต ให้สามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับปรุงโครงสร้างการชำระหนี้ (Loan Review) ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ และการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งระบบ 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมิถุนายน 2564 โดยมีเกษตรกรลูกค้า สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับประโยชน์ ณ 22 ตุลาคม 2563 จำนวนกว่า 3.25 ล้านราย วงเงินพักชำระหนี้กว่า 1.45 ล้านล้านบาท

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการว่างงาน กระตุ้นกลไกการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจ SME โดยใช้ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารออมสิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเกษตรกร ผู้ประกอบและวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่ได้รับประโยชน์ ณ 22 ตุลาคม 2563 จำนวน 5,974 ราย วงเงินกู้กว่า 5,085.58 ล้านบาท โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท 

เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและครอบครัวในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและฉุกเฉินภายในครัวเรือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน กำหนดชำระคืนไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน นับจากวันกู้ และปลอดชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก มีเกษตรกรและครอบครัวให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านระบบ LINE Official BAAC Family ณ 31 ตุลาคม 2563 จำนวน 2,520,680 ราย โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 8.5 แสนราย วงเงินกว่า 8,484.83 ล้านบาท

3. มาตรการช่วยเหลือของรัฐผ่านระบบ ธ.ก.ส. ได้แก่ การจ่ายเงินชดเชยรายได้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง เดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) ซึ่งในการดำเนินงาน นอกจากจ่ายเงินผ่านระบบ ธ.ก.ส. ไปยังผู้ใช้สิทธิ์ที่ลงทะเบียนในโครงการกว่า 2.7 ล้านราย เป็นเงินกว่า 43,015 ล้านบาทแล้ว 

ธ.ก.ส. ยังร่วมจัดตั้งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ ทั่วประเทศกว่า 6,000 ราย ทำหน้าที่สอบทานการประกอบอาชีพของผู้ขอทบทวนสิทธิ์เพิ่มเติมอีกจำนวน 212,987 ราย โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร รายละ 15,000 บาท โดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) จำนวน 10 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 150,000 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 




โดยได้นำมาตรวจสอบสถานะผู้ที่เสียชีวิตและความซ้ำซ้อนกับการให้ความช่วยเหลือ อื่น ๆ ของรัฐ และทยอยโอนเงินผ่าน ธ.ก.ส. ทุกสาขากว่า 1,200 สาขาทั่วประเทศ โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจำนวนกว่า 7.56 ล้านราย เป็นเงิน 113,304 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ เช่น การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ เงินเดือน อสม. เงินประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 พืชหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงวิกฤตถือเป็นโอกาสของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรลูกค้าในการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งตรงไปบนมือถือเกษตรกร ช่วยสร้างความสะดวกรวดเร็ว 

ไม่ว่าจะเป็น การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์กู้เงินฉุกเฉิน การแจ้งข้อมูลเงินเข้า- เงินออกผ่าน BAAC Connect โดยไม่มีค่าใช้จ่าย การแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จาก ธ.ก.ส. ในระบบ LINE Official :  BAAC Family การเช็คสิทธิ์โครงการรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com การสื่อสารผ่าน Facebook BAAC Thailand เป็นต้น และในขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้พัฒนาระบบการอนุมัติสินเชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างบริการที่ทันสมัย รวดเร็ว แม่นยำ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคใหม่ 








ความคิดเห็น