เร่งเก็บกักน้ำหลังฝนเริ่มลดลง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมไปถึงสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ

ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ปัจจุบัน (10 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,350 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 24,420 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,688 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,992 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน




ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “เอตาว” ซึ่งจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ และคาดว่าจะสลายตัวบริเวณประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก 

ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งบริหารจัดการน้ำโดยเน้นเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด ในส่วนของภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. 63 – ม.ค. 64 นี้ รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขตจัวหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด 



อนึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมวอนพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยต้องช่วยกันประหยัดน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่อย่างจำกัด สามารถสนับสนุนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลักเท่านั้น 

ด้วยปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ 



กรมชลประทาน ยังได้สนองนโยบายรัฐบาล ตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ โดยก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง จะเร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับวางแผนสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการประปาส่วนภูมิสาขาต่างๆ และประปาท้องถิ่นด้วย พร้อมติดตามและกำกับการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับการเตรียมพร้อมด้านอื่นๆ กรมชลประทานได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วน 1460






ความคิดเห็น