กยท.เป็นเจ้าภาพประชุมวิชาการยางพาราโลก (Global Rubber Conference : GRC) ครั้งที่ 16 ในรูปแบบ Hybrid ทั้งห้องประชุมจริง และการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ virtual conference จาก 25 ประเทศทั่วโลก ระหว่าง วันที่ 12 – 13 พ.ย. 63
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานในพิธีเปิด แถลงว่า เป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยยังคงเป็นผู้ผลิตและส่งออกยาง ผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง และถุงยางอนามัย ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตจะล้นตลาด เนื่องมาจากราคายางพาราที่ผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังคงผลิตยางได้ 4.9 ล้านตัน
โดยมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติมากถึง 4.18 ล้านตัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูปมีมูลค่า 11.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน การผลิตยางธรรมชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 4.7 ล้านตันในปีนี้ โดยมีการส่งออกอยู่ที่ 3.8 ถึง 3.9 ล้านตัน
นายนราพัฒน์ กล่าวว่า ความเป็นผู้นำของไทยในภาคยางพารา เกิดจากการสนับสนุนและให้ความสำคัญจากภาครัฐ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ปัจจัยด้านทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิตยางธรรมชาติ แรงงานที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน
อาทิ การขนส่ง การสนับสนุนการลงทุนเพื่อดึงดูดหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในผลิตภัณฑ์ยางของไทยมากขึ้น การจัดตั้ง Rubber City เพื่อเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย ไม่เพียงแต่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น แต่เป้าหมายที่สำคัญของเราคือ การผลักดันราคาและรักษาเสถียรภาพของรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติหรือผลิตภัณฑ์ยาง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับนโยบายห่วงโซ่มูลค่าที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท Thailand 4.0 โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ทั้งในภาคการเพาะปลูกและการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ยางที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ยางรถยนต์และยางล้อเครื่องบิน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การประชุมวิชาการยางพาราโลก (Global Rubber Conference : GRC) ครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องด้านยางพาราของโลกทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังสถานการณ์ยางพาราของโลกในปัจจุบัน ตลอดจนทิศทางแนวโน้ม และความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญในอนาคต
ผลจากสถานการณ์ Covid 19 ประเทศไทยโดยการยางแห่งประเทศไทย จึงปรับรูปแบบการประชุมให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จัดการประชุมในรูปแบบไฮบริดโมเดล เปิดโอกาสให้ผู้แทนและวิทยากรกว่า 400 คน จาก 25 ประเทศ และมีผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ ในประเทศไทยประมาณ 100 คน เข้าร่วมประชุมแบบเสมือนจริง ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ข้อจำกัดเรื่อง
การเดินทางไม่ทำให้เจตจำนงของความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมในด้านนโยบาย การวิจัย และธุรกิจของยางพาราลดลง เชื่อมั่นว่าผลของการประชุมครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางให้สามารถแข่งขัน ฟื้นกลับมาและมีความยั่งยืนได้
สำหรับหัวข้อการประชุมฯ จะเน้นการวิเคราะห์ผลระทบแนวทางการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับราคายางที่มีความผันผวน (Price fluctuations) เช่น ผลกระทบ Covid-19 ต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมหลัก การวิเคราะห์แนวโน้มตลาดยางพาราโลก อนาคตและความท้าทาย การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อความยั่งยืน สร้างมูลค่า รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ โดยคำนึงการส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น
นายณกรณ์ กล่าวว่า ภายในงานนี้ มีพิธีมอบรางวัล Wickham ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ผู้มีคุณูปการด้านอุตสาหกรรมและวิชาการยางพาราของโลก โดยมีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ คุณบุญธรรม นิธิอุทัย เป็นผู้เชี่ยวชาญภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับรางวัลคัดเลือกสายเทคโนโลยีทางการค้า จากผลงาน การผลิตหุ่น CPR เพื่อสังคม และนำยางไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมทางการแพทย์
คุณปรีดิ์เปรม ทัศนกุลเป็นนักวิชาการขางการยางแห่งประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลคัดเลือกสายนวัตกรรมเทคโนโลยีจากผลงาน การพัฒนามาตรฐานอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น GMP เพื่อให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ผลิต แปรรูปวัตถุดิบให้มีมูลค่าเพิ่มภายใต้มาตรฐานสากล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น