นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านเขว้า และอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชี อยู่ในเขต 13 จังหวัด โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 30.92 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,174 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 11,244 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ปริมาณเก็บกักปัจจุบัน 5,650 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 50.24% ของปริมาณน้ำท่า ซึ่งกรมชลประทานได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในเขตลุ่มน้ำชี โดยได้ดำเนินการตามพระราโชบาย ในการ "สืบสาน รักษา ต่อยอด" ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ต้องการให้ช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณตอนบนในเขตจังหวัดชัยภูมิ บริเวณกลางน้ำมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และแก้มลิงทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำชี และบริเวณปลายน้ำมีการก่อสร้างอาคารควบคุมปริมาณน้ำและทางผันน้ำ
ที่ผ่านมาจังหวัดชัยภูมิประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรน้ำฝน มักจะประสบปัญหารุนแรงในช่วงกรณีฝนทิ้งช่วง ถึงแม้ว่าจังหวัดชัยภูมิจะมีปริมาณฝนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่ก็มีปัญหาฝนตกไม่สม่ำเสมอและไม่กระจายทั่วทั้งพื้นที่ ทำให้พื้นที่บางแห่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้อย่างเต็มที่
หากทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งจะทำการเพาะปลูกได้เฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานเท่านั้น กรมชลประทานจึงได้เริ่มศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำซีตอนบนเมื่อปี 2507 และศึกษาเพิ่มเติมในปี 2514 โดยเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนน้ำชีขนาดความจุประมาณ 1,860 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งให้พื้นที่ชลประทานประมาณ 222,440 ไร่
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ ว่า เขื่อนเก็บกักน้ำลําน้ำชี ซึ่งกรมชลประทานได้วางโครงการจะก่อสร้างขึ้นนั้น มีปัญหาเรื่องที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำมาก จึงควรพิจารณาเลื่อนเขื่อนเก็บกักน้ำลําน้ำชีมาก่อสร้างใต้ลงไป และพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลําน้ำสาขาต่างๆของลําน้ำชี เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีเดิมให้สามารถมีน้ำทําการเพาะปลูกได้ทั้งในระยะฤดูฝน-ฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย
กรมชลประทานได้สนองพระราชดําริโดยศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งออกแบบรายละเอียดและเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลําน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดําริ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการโครงการ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ระยะเวลาดําเนินการ 6 ปี (2562 – 2567)
กรมชลประทานจึงได้ดําเนินการก่อสร้างหัวงานเขื่อนและอาคารประกอบ มีความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 70.21 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 786 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000 ไร่ สามารถเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลําน้ำชี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จนถึงจุดบรรจบลําน้ำพอง ในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทำการประมง และช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำด้วย
จากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการแก้มลิงบึงนกโง่พร้อมอาคารประกอบ ตำบลศรีสำราญ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการโดย นายพงศ์ศักดิ์ ณ ศร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชัยภูมิ พร้อมพบปะราษฎรในพื้นที่และเยี่ยมชมผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 3 แสนตัว เพื่อเป็นการขยายพันธุ์ปลาและเพิ่มความสมบูรณ์ให้แก่ระบบนิเวศต่อไป
สำหรับโครงการแก้มลิงบึงนกโง่พร้อมอาคารประกอบ มีพื้นที่ทั้งหมด 1,420 ไร่ ที่ผ่านมาสามารถเก็บกักน้ำได้ 3,862,970 ลูกบาศก์เมตร สภาพโดยทั่วไปมีสภาพตื้นเขิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณรอบบึงและมีตะกอนสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงโครงการแก้มลิงบึงนกโง่ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักเป็น 5,096,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์รวม 4,250 ไร่ 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน 625 ครัวเรือน สามารถใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในด้านการผลิตประปา และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้กับราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น