ไม่หยุด"ยาง-ปาล์ม"ยังแรงราคาพุ่งต่อเนื่อง !!

นางอัญชนา  ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ว่า ราคายางพาราท้องถิ่น ราคาประมูลตลาดกลางยางพาราการยางแห่งประเทศไทย และราคาส่งออก FOB  ยังคงมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3  ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.89 บาท (ณ 1 ตุลาคม 2563)  เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท (ณ 30 ตุลาคม 2563) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41  

เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 และมาตรการปิดเมืองที่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราเร่งด่วนหลายด้าน ซึ่งได้แก่ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ  การส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ  รวมถึงการซื้อขายยางพาราแบบออนไลน์ 



นอกจากนี้ ผู้ซื้อภายในประเทศต้องการเร่งการส่งมอบยางในช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะเดียวกันราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทั้งตลาดญี่ปุ่น และตลาดสิงคโปร์อยู่ในช่วงขาขึ้น มีแรงซื้ออยู่ในระดับสูง  ความต้องการถุงมือยางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19  และภาคโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนมีการขยายตัว นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

ด้านราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยราคาปาล์มน้ำมันรับซื้อที่หน้าโรงงานในแหล่งผลิตที่สำคัญ (สุราษฎร์ธานี กระบี่ และ ชุมพร)  ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ4.10 – 5.00 บาท (ณ 1 ตุลาคม 2563) เพิ่มเป็นระหว่างกิโลกรัมละ 6.00 – 6.90 บาท (ณ 30 ตุลาคม 2563) และราคาน้ำมันปาล์มดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 25.00 – 25.25 บาท (ณ 1 ตุลาคม 2563)  เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 36 – 37 บาท (ณ 30 ตุลาคม 2563)



เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสถานการณ์ Covid – 19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการของรัฐที่กระตุ้นการใช้น้ำมันปาล์ม โดยการนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล รวมทั้งการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินของผู้ประกอบการ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเฉลี่ยเดือนละ 0.24 ล้านตัน 

ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม) ออกสู่ตลาดน้อย (ร้อยละ 19 ของผลผลิตทั้งหมด 16.36 ล้านตัน) โดยคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบเดือนตุลาคม 0.21 ล้านตัน  พฤศจิกายน 0.18 ล้านตัน  และธันวาคม  0.16 ล้านตัน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลงเฉลี่ยอยู่ระหว่างเดือนละ  0.03 – 0.08 ล้านตัน และคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 สต็อกน้ำมันปาล์มดิบจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 0.28 – 0.32 ล้านตัน คาดว่า ราคาปาล์มจะพุ่งต่อเนื่องจนถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564



ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ราคายางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม จะยังคงทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยกลไกตลาดและมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโมเดล "เกษตรฯ-พาณิชย์ทันสมัย”และนโยบาย”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่อง








ความคิดเห็น