ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มที่ 2.90 บาทต่อฟอง ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ นับเป็นราคาที่พอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้หายใจหายคอสะดวกขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมานาน ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า ราคาขายจริงเคยหล่นลงไปถึง 2.20-2.30 บาท ในช่วงที่ภาครัฐห้ามส่งออกไข่ จนมีปัญหาไข่ล้นตลาด มีไข่ไก่ส่วนเกินในประเทศวันละกว่า 3 ล้านฟอง
ทำให้ราคาดิ่งลง กระทั่งภาครัฐต้องออกมาตรการแก้ปัญหา ทั้งการผลักดันส่งออกไข่ไก่จำนวน 200 ล้านฟอง การเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรง 3 ล้านตัว เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ ให้เข้าสู่สมดุลกับการบริโภคในประเทศ
การปรับราคามาอยู่ในระดับนี้ จึงไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกร เป็นเพียงการช่วยต่อลมหายใจ ให้พวกเขาพอมีทุนรอนในการใช้หนี้สินที่ต้องแบกรับมาก่อนหน้านี้ และใช้ต่อทุนให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่เดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิต ตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.58 ต่อฟอง ขณะที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้จริงเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ฟองละ 2.65 บาทเท่านั้น เท่ากับว่าคนเลี้ยงมีกำไรไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ ถือว่ากำไรบางมาก ยิ่งถ้าฟาร์มไหนมีปัญหาเรื่องโรค หรืออากาศเปลี่ยนแปลงเข้าซ้ำเติมด้วยแล้ว ต้นทุนกับราคาขายก็ชนกันพอดี เรียกว่าแทบไม่มีกำไรหรือบางฟาร์มถึงกับขาดทุน นี่คือความจริงที่เกษตรกรต้องเผชิญ
สำคัญกว่านั้นคือ ราคาไข่ที่เพิ่มนี้ เกษตรกรเพียงแค่พ้นน้ำ จากก่อนหน้านี้ที่อาชีพต้องลุ่มๆดอนๆ เพียงขอความเห็นใจว่าต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง ไข่คละที่ขายนั้นเกษตรกรได้ราคาหน้าฟาร์มแค่ 2.90 บาท แต่เส้นทางไข่ไก่...กว่าจะถึงมือผู้บริโภคนั้น ต้องผ่านกลไกตลาดในหลายขั้นตอน เพราะวงจรการค้าไข่มีซัพพลายเชนยาว
มีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น มีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรรวมไข่ หรือล้งไข่ ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงร้านขายของชำหรือตามตลาดสดในหมู่บ้าน ซึ่งแต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่จากหน้าฟาร์มมาถึงคนกินราคาไข่จะปรับขึ้น และประโยชน์ก็ไม่ได้ตกที่เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต
ส่วนราคาไข่ที่ประกาศฯ ปรับขึ้น 20 สตางค์ ที่ในมุมผู้บริโภคบางคนมองว่าไข่แพงนั้น ถ้าพิจารณาให้ลึกแล้วจะเห็นความเป็นจริงอีกด้าน ยกตัวอย่างการบริโภคไข่ไก่ในครอบครัวยุคปัจจุบัน ที่ในบ้านมีพ่อ-แม่-ลูก รวม 3 คน หากทานไข่วันละ 1 ฟองต่อคน ช่วงเวลาหนึ่งเดือนก็จะทานไข่ 90 ฟอง เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากราคาไข่ที่ปรับขึ้นเพียงเดือนละ 18 บาทต่อครอบครัว ซึ่งสำหรับคนเมืองแล้วเงินเพียงเท่านี้ไม่ทำให้เดือดร้อน เสียเงินกับเรื่องอื่นยังมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หากทุกคนเปิดใจและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือคอมโมดิตี้ (Commodities) ที่ราคาแปรผันขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) จากความต้องการบริโภคกับปริมาณผลผลิต ที่หากไม่สมดุลกันแล้วราคาย่อมมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา ตามกลไกตลาดในช่วงเวลานั้นๆ และราคาที่ปรับขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้น แค่ช่วยให้อาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ไม่ล้มหายไป เพราะเกษตรกรทนรับภาระขาดทุนไม่ได้เท่านั้น
ที่สำคัญการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ภาครัฐ ภาคผู้ผลิต หรือเกษตรกร ที่ต้องเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้โดยลำพัง แต่ผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศก็สามารถช่วยได้ ด้วยการทานไข่เพียงคนละฟองต่อวัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไข่ไก่ได้เดินหน้าต่อ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเกษตรกรคอยผลิตไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพดีให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดีต่อไป
รัชนีวรรณ สุขสำราญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น