กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ระดมเครื่องจักรเครื่องมือเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ระดมเครื่องผลักดันน้ำติดตั้งเพิ่มเติมในแม่น้ำมูลตอนล่าง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้ไวขึ้น หวังดึงน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ตอนบนให้ระบายได้เร็วยิ่งขึ้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายให้กรมชลประทานบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุต่าง ๆ จึงได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล นำเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครปฐม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี
ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 162 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 105 % ของความจุอ่างฯ แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯ ลดลง ส่งผลให้น้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้น (ปากแตร) ลดลงตามไปด้วย แต่ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอโชคชัย และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 53 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง พร้อมสนับสนุนรถแบคโฮ 4 คัน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ส่วนที่เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 113 % ของความจุอ่างฯ แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯ ลดลง และยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอเมือง อำเภอสูงเนิน และอำเภอพิมาย
สำนักงานชลประทานที่ 8 นำรถแบคโฮ 5 คัน ขุดลอกคลองสายใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 9 เครื่อง บริเวณ ปตร.ข่อยงาม และ ปตร.จอหอ ด้านแม่น้ำมูล แนวโน้มปริมาณน้ำทรงตัวลดลง กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์น้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
ที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี บริเวณชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) น้ำท่วมสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร และชุมชนบูรพา 2 น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำกระสอบทราย 500 ใบ วางเป็นแนวกั้นน้ำ
พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) หากระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดต่ำลงกว่าตลิ่ง จะเร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่โดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานพิบูลมังสาหารไปแล้วก่อนหน้านี้ 50 เครื่อง และกำลังเร่งติดตั้งเพิ่มเติมอีก 50 เครื่อง เพื่อเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด
ที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมขัง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า และ อำเภออู่ทอง โครงการชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เร่งระบายน้ำบริเวณ ปตร.ริมแม่น้ำท่าจีน ระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และเร่งระบายน้ำในคลองระบาย 4 ซ้ายสุพรรณ 2 เพื่อรองรับน้ำที่สูบออก พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 20 เครื่อง และนำรถแบคโฮกำจัดวัชพืชในคลองระบายน้ำ 4 คัน
ที่จังหวัดนครปฐม ในเขตพื้นที่ ตำบลทุ่งบัว และ ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำกว่า 450 ไร่ ส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 13 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 7 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าวกว่า 4,000 ไร่ ในเขตพื้นที่ ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน ตำบลหินมูล และตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่แล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ จะคลี่คลายจนเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น