พลเรือโท ธนพล วิชัยลักขณา ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
พลเรือโท กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 25-28 พ.ย. 63 ในพื้นที่ภาคใต้ จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ประกอบกับ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 26-29 พ.ย. 63 ได้แก่ พื้นที่เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำตาปี ต.ท่าข้ามและต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี คลองชะอวด ต.การะเกด อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ทะเลสาบสงขลา ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา คลองอู่ตะเภา ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา และแม่น้ำปัตตานี ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นอกจากนี้เมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ยังมีปริมาณฝนตกสูงสุดถึง 134 มิลลิเมตร
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักและสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่สำคัญของภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง และการเตรียมรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่ภาคใต้ที่ กปภ. ได้ชี้เป้าไว้
รวมทั้งการวางแผนการบริหารจัดการน้ำบริเวณพรุควนเคร็งและพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำแล้ง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. ที่ต้องการให้ประชาชนได้รับการดูแลจากรัฐบาลทั้งด้านการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ณ วันที่ 27 พ.ย. 63 มีปริมาณน้ำใช้การรวมอยู่ที่ 3,575 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 56% ส่วนแหล่งน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาตรน้ำเก็บกักเกินกว่า 100% โดยมีแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ภาคใต้ 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ
ในส่วนภาพรวมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 ปริมาตรน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย. 63 อยู่ที่ 3,006 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การปัจจุบันอยู่ที่ 3,050 ล้าน ลบ.ม. แผนการระบายน้ำทั้งฤดูแล้ง ปี 63/64 อยู่ที่ 2,158 ล้าน ลบ.ม. ผลการระบายน้ำสะสมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 63 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 174 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบผลการระบายกับแผนคิดเป็น 8% โดยมีอ่างเก็บน้ำบางลางเพียงแห่งเดียวที่มีการระบายน้ำมากกว่าแผนอยู่ที่ 16.12 ล้าน ลบ.ม.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น