“ความปลอดภัยในอาหาร” หรือ Food Safety นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร เรื่องนี้ “กรมปศุสัตว์” ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลโดยตรง ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยผลักดันให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภคชาวไทยและผู้บริโภคทั่วโลกมาตลอด
เป็นที่มาของการสร้างมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และความปลอดภัยของผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 2543 ครอบคลุมตั้งแต่ระบบการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มมาตรฐาน GAP) และขยายงานด้านมาตรฐานสินค้าในส่วนของโรงงานผลิตและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นสพ.สรวิศ ธานีโต ขยายความว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศไทยทั้งหมด มุ่งเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ นอกจากปลอดภัยในเรื่องโรคแล้ว ต้องปลอดภัยจากสารตกค้างด้วย
กรมปศุสัตว์จึงมุ่งดำเนินการด้านมาตรการ และผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน จากโครงการ "ปศุสัตว์ OK" ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับผู้ประกอบการและร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปี โดยต่อยอดมาจากโครงการเขียงสะอาด และโครงการนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ของประเทศไทย
ทำให้ตราปศุสัตว์ OK กลายเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบายว่า สถานที่จัดจำหน่ายที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ สินค้าที่นำมาขายต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP, ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต ถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง ส่วนไข่ไก่ก็ต้องผลิตจากสถานที่รวบรวมไข่ที่ได้รับการรับรอง, วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้
เรียกได้ว่าเนื้อสัตว์และไข่ไก่ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK จะต้องมีคุณภาพตั้งแต่ต้นทางกระบวนการผลิต และสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน อย่างเช่น เขียงต้องสะอาด ภาชนะเป็นสเตนเลส การแต่งกายของผู้จำหน่ายต้องสะอาด และสวมถุงมือสำหรับหยิบจับสินค้า เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการปศุสัตว์ OK ให้การรับรองสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด และมีสถานที่จำหน่ายเข้าร่วมโครงการฯแล้ว 7,000 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในตลาดสด และสถานที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Modern trade โดยสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองภายใต้โครงการฯ จะได้รับใบประกาศและป้ายสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ไว้แสดง ณ จุดจำหน่าย เมื่อผู้บริโภคเห็นตราสัญลักษณ์นี้ จึงมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ที่ซื้อไปบริโภคนั้น มีคุณภาพ ปลอดภัย และผ่านการตรวจสอบรับรองจากกรมปศุสัตว์
ส่วนวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่เหมาะสมกับการบริโภคนั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำว่า เนื้อหมูต้องมีสีชมพูสดถึงแดง แต่ต้องไม่แดงมาก เนื้อละเอียดไม่หยาบ กลิ่นต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อใช้นิ้วกดเนื้อต้องคืนตัวได้ดีไม่เกิดรอยบุ๋มตามแรงกด ไม่ควรซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว กลิ่นเหม็นรุนแรง หรือมีเมือกลื่น มีสีคล้ำ หรือเนื้อหมูที่สีซีดเกินไปและมีน้ำซึมไหลออกมาแสดงว่าเป็นเนื้อที่เสื่อมคุณภาพ
สำหรับการเลือกเนื้อไก่ที่สดต้องสังเกตเนื้อที่มีสีชมพูเรื่อๆ ไม่มีสีแดงมาก หรือไม่ซีดเกินไปจนเป็นสีขาว เนื้อต้องไม่แฟบแบน หนังมีสีขาวอมเหลือง เต่งตึงไม่เหี่ยวย่น และสังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องไม่มีน้ำนองออกมาซึ่งแสดงว่าไก่ยังมีความสดอยู่
ที่สำคัญผู้บริโภคควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์ได้เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะได้บริโภคเนื้อสัตว์ปลอดภัยอย่างแน่นอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น