ภาวะราคาไข่ไก่ที่ยืนราคาไปในทิศทางแข็งตัวในช่วงนี้ บางคนอาจมองว่าเป็นผลบวกกับเกษตรกรผู้เลี้ยง แต่แท้จริงแล้ว ราคาไข่คละที่ขายหน้าฟาร์มได้ฟองละ 2.90 บาทนี้ เป็นเพียงรายได้ที่เกษตรกรนำมาจุนเจือครอบครัว และแค่พอประคองอาชีพ หลังจากที่ต้องทนรับภาระขาดทุนมาตลอด
ราคาขายจริงที่เกษตรกรได้รับเคยต่ำเพียง 2.20-2.30 บาท เมื่อตอนที่รัฐบาลห้ามการส่งออกไข่ไก่เมื่อช่วงต้นปี เพียงเพราะปัญหาดีมานด์เทียมคนแห่ซื้อไข่กักตุนจากความตระหนกของผู้บริโภค ในตอนที่ไทยประสบกับวิกฤตโควิดช่วงแรกๆ แต่การไม่ให้ส่งออกไข่ไปขายต่างประเทศทำให้เกิดภาวะหยุดชะงัก ไข่ไก่เกิดล้นตลาด ขณะนั้นมีไข่ไก่ส่วนเกินมากกว่า 3 ล้านฟองต่อวัน ราคาไข่จึงดิ่งลงจนเกินเยียวยา เกษตรกรจำต้องขายขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่ฟองละ 2.58 บาท เทียบกับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยทั้งปีที่ฟองละ 2.65 บาท จะเห็นว่าเกษตรกรมีกำไรเพียง 0.07 บาทต่อฟอง เท่านั้น เรียกว่าแทบไม่พอชดเชยภาวะขาดทุนในช่วงก่อนหน้านี้เลยด้วยซ้ำ
เป็นที่มาของมาตรการต่างๆที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรผู้เลี้ยง ร่วมกันเร่งดำเนินการเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ผ่านมาตรการควบคุมปริมาณไก่เพื่อรักษาปริมาณไข่ไก่ไม่ให้ล้นตลาด โดยบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตทั้งประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งความเหมาะสมของปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ช่วงกลางน้ำด้วยการกำหนดอายุปลดไก่ และเร่งปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง 3 ล้านตัว เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ ให้เข้าสู่สมดุลกับการบริโภคในประเทศ
รวมถึงการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกินตามแผนปฏิบัติการ “PS Support” ที่เป็นการรวมพลังของภาคผู้ผผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (Parent Stock : PS) จำนวน 16 ราย ที่เร่งผลักดันการส่งออกไข่ไก่ที่เกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ ออกไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้ 200 ล้านฟอง ตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อระบายผลผลิตไข่ ช่วยพยุงเกษตรกรรายย่อย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ
ส่วนช่วงปลายน้ำ ยังคงเดินหน้าโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เกษตรกร สถาบันการศึกษา และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมผลิตไข่ไก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตื่นตัว มีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารของไข่อย่างถูกต้องและมีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นสู่เป้าหมาย 300 ฟองต่อคนต่อปี
ความพยายามในการสร้างสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่ทุกภาคส่วนพยายามดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไข่ไก่ยืนราคาดังเช่นปัจจุบันนี้ จึงช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเดินหน้าอาชีพเดียวของพวกเขาต่อ ไม่ให้ต้องล้มหาย จากการที่ไม่สามารถแบกรับหนี้สินจากภาวะขาดทุนได้ เพราะสุดท้ายหากไม่มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ คนที่ต้องได้รับผลกระทบแน่นอนคือผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเลี้ยงไก่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ส่วนคำถามที่ว่าเหตุไฉนไข่ไก่เมื่อถึงมือผู้บริโภคแล้วราคาจึงไม่ใช่ฟองละ 2.90 บาท อย่างที่ขายกันหน้าฟาร์มเกษตรกร นั่นเพราะวงจรการค้าไข่ที่มีห่วงโซ่ยาว นับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ไปถึงผู้รวบรรวมไข่ หรือที่เรียกว่าล้งไข่ ต่อไปที่ยี่ปั่ว ซาปั่ว ผู้ค้าปลีก จนถึงตลาดสดและร้านขายของชำตามหมู่บ้าน จะเห็นว่ามีกระบวนการและคนกลางหลายขั้นตอน ที่แต่ละจุดต่างมีค่าดำเนินการกลายเป็นต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เห็นได้ชัดว่า เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรกับราคาขายไข่ในท้องตลาด คนเลี้ยงไก่จึงเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ ที่ไม่เพียงต้องแบกภาระขาดทุน แต่ยังถูกเข้าใจผิดในเรื่องนี้ทุกครั้งเมื่อราคาไข่ขยับตัว ทั้งๆที่ราคานั้นเป็นไปตามกลไกตลาด จากความต้องการซื้อและปริมาณผลผลิตที่ไม่สมดุลกัน
วันนี้นอกจากความเข้าใจจากสังคม จะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการแล้ว การหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้นยังเป็นอีกหนทางที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับเกษตรกรได้ด้วย./
สังวาลย์ สยาม นักวิชาการอิสระ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น