กรมหม่อนไหมจัดงานวันสถาปนากรมหม่อนไหม ครบรอบปีที่ 11 สืบสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โชว์นวัตกรรมยกระดับแปลงใหญ่และงานเด่นหม่อนไหมด้วยเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบายตลาดนำการผลิต พัฒนาสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม เปิดตลาดหม่อนไหมดี 4 ภาค และมหกรรมอาหารจากหม่อนและดักแด้ไหม เมนูสุขภาพทางเลือกอาชีพเสริม-หลัก กระตุ้นเศรษฐกิจหลังภัยโควิด-19
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานวันสถาปนากรมหม่อนไหม ครบรอบปีที่ 11 ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมหม่อนไหม ดำเนินงานภายใต้ภารกิจสำคัญเพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม
โดยใช้การตลาดนำการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งต้องเร่งพัฒนาสินค้า ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยให้ก้าวไกลเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งสืบสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำหรับเกษตรกรดีเด่น ทายาทหม่อนไหมและพนักงานราชการดีเด่น ที่ได้รับรางวัลในปีนี้นั้น ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพการผลิต การตลาดหม่อนไหม และมีส่วนช่วยเหลืองานด้านหม่อนไหมทั้งในระดับดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมจัดตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2552 เป็นกรมลำดับที่ 14 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจเกี่ยวกับหม่อนไหมทั้งระบบ ครอบคลุมถึง การพัฒนา การอนุรักษ์และคุ้มครองพันธุกรรมหม่อนไหม การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานหม่อนไหม การส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านหม่อนไหม การตลาดหม่อนไหม รวมถึงการส่งเสริมเอกลักษณ์และการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับหม่อนไหม
กรมหม่อนไหมจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาในปีนี้เป็นปีที่ 11 ในระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2563 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการหม่อนไหมไทย และเพื่อเผยแพร่ภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหม โดยมีการแสดงนิทรรศการการถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย” ประวัติกรมหม่อนไหม เกษตรแปลงใหญ่หม่อนไหม (ไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองและรังขาว) การย้อมเส้นไหมด้วยคราม การย้อม เส้นไหมด้วยครั่ง
โครงการผ้าทออีสานสู่สากล เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเพื่อนำใบหม่อนไปเลี้ยงสัตว์ ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง ผ้าไหมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จังหวัดศรีสะเกษ และโครงการผลิตเส้นไหมขัดฟันจากไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านหม่อนไหมทั้งระบบ ตั้งแต่การสร้างทายาทหม่อนไหม เกษตรกรหม่อนไหมจนถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านหม่อนไหม
เพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพ การผลิต การแปรรูป และการตลาดหม่อนไหม ตลอดจนสนับสนุนและช่วยเหลืองานด้านหม่อนไหม ทั้งในระดับศูนย์ ระดับเขตและระดับประเทศ โดยได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่น 3 ประเภท ได้แก่ เกษตรกรดีเด่นระดับเขต 6 คน ทายาทหม่อนไหมดีเด่น ระดับเขต 6 คน และพนักงานราชการดีเด่นของกรมหม่อนไหม 34 คน ให้เข้ารับรางวัลในงานนี้ด้วย
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดหม่อนไหม “หม่อนไหมดี 4 ภาค” จำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนและไหมจากเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ อาทิ ภาคเหนือ ผ้าไหม ยกดอกลำพูน ผ้าซิ่นตีนจก ภาคกลาง ผ้าไหมทอลาย ผ้าไหมถัก และเสื้อผ้าไหมสำเร็จรูป ภาคใต้ ผ้าไหมจากบ้านนาหมื่นศรี
ผ้าไหมจากกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ และภาคตะวันออกฉียงเหนือ ผ้าไหมขิด ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมกาบบัว ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ ผ้าไหมแส่ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าไหม ผ้าไหมพื้น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ผ้าโสร่ง รวมทั้งสินค้าจากผ้าไหมและรังไหม เป็นต้น อีกทั้งเปิดตัวผ้าไหมสีกากี สำหรับตัดเครื่องแบบข้าราชการ โดยนำมาจำหน่ายในราคาทุน และจะจำหน่ายต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564
นอกจากนี้ ยังมี “มหกรรมอาหารจากใบหม่อนและดักแด้ไหม” โดยนำการแปรรูปหม่อนและดักแด้ไหมเป็นอาหารซึ่งกรมหม่อนไหมเคยจัดการประกวดระดับประเทศเมื่อหลายปีก่อนนั้น มาสาธิตการทำอาหาร ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะใบหม่อนและดักแด้ไหมมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยใบหม่อนนั้นมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล
มีสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยบำรุงร่างกาย ส่วนดักแด้ไหม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงไหม มีสรรพคุณช่วยขยายหลอดเลือด เสริมสร้างสมอง ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ทั้งยังมีกรดไลโนเลนิก ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโอเมก้า-3 ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองในด้านการมองเห็น การปรับตัว การเรียนรู้ และอารมณ์ และยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 ด้วย
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นอกจากจะได้ใบหม่อนไปเลี้ยงไหม และนำดักแด้ไหมไปสาวเส้นและทอเป็นผืนผ้าเครื่องนุ่งห่มแล้ว เรายังสามารถสร้างสรรค์หม่อนและไหมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมหาศาล อาทิ เวชสำอางบำรุงผิว อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชาใบหม่อน แยมหม่อน ไวน์หม่อน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
รวมทั้งอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายที่นำมาสาธิตในงานนี้ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อโควิด-19 ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เมนูอาหารจากหม่อนและดักแด้ไหม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจที่สามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น