กองอำนวยการน้ำแห่งชาติประชุมติดตามความก้าวหน้า 9 มาตรการป้องกันแล้งปี’64 ยึดเป้าป้องกันพื้นที่ขาดน้ำอุปโภค-บริโภค เตือนฝนภาคใต้ตอนล่างฝนตกหนักส่งท้ายปี 30 – 31 ธ.ค.นี้ ย้ำหน่วยเกี่ยวข้องพร้อมรับมือ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2563 เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำฤดูแล้งและเก็บกักน้ำฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2564 นี้
รวมถึงติดตามความก้าวหน้า 9 มาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี 63/64 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พ.ย.63 ที่ผ่านมา พบว่าโดยส่วนใหญ่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผน อาทิ การเร่งเก็บกักน้ำก่อนหมดฝน โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปัจจุบันแหล่งน้ำทุกขนาดสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,373 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความพร้อมสำหรับการขึ้นบินในพื้นที่เป้าหมายเมื่อความชื้นในอากาศมีความเหมาะสมทันที
ขณะที่การตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตบริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งมีแผนรองรับการขาดแคลนน้ำตามมาตรการแล้ว ปัจจุบันยังไม่พบสถานการณ์ขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด แต่ในส่วนของพื้นที่นอกเขตบริการของ กปภ. ปัจจุบันมีสถานการณ์ขาดแคลนน้ำแล้ว 11 ตำบล ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก ลำพูน เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำหน่วยงานสำรวจพื้นที่ประสบภัยขาดแคลนน้ำเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างครอบคลุมและเร่งด่วนต่อไป
สำหรับมาตรการจัดสรรน้ำฤดูแล้งตามแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 11,749 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีผลการจัดสรรน้ำแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,569 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% โดยอ่างฯ ขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง มีการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน 23 แห่ง ส่วนอีก 13 แห่ง พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผน อาทิ อ่างฯ กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก สิริกิติ์ แควน้อยฯ และทับเสลา
ที่ประชุมได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับแผนและควบคุมการจัดสรรน้ำตามแผนที่วางไว้ ขณะที่การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งจากแผน 5.64 ล้านไร่ ปัจจุบันเพาะปลูกแล้ว 2.74 ล้านไร่ คิดเป็น 48% โดยได้กำชับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการขอความร่วมมือเกษตรกรลดการปลูกข้าวรอบสอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีการปลูกข้าวเกินแผนมากกว่า 1 ล้านไร่ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย การขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีจำกัดโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด
ที่ประชุมได้ซักซ้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบแผนงานโครงการขอสนับสนุนงบกลางจากการพิจารณาการดำเนินการจากงบประมาณปกติของหน่วยงานแล้ว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 และแก้ไขความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง สทนช.จะมีการพิจารณากลั่นกรองแผนงานโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในต้นเดือนมกราคมปี 2564 โดยเร็ว
ที่ประชุมยังติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าในช่วงวันที่ 30 – 31 ธันวาคมนี้ ปริมาณฝนภาคใต้จะเพิ่มขึ้นบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรับมือในการบริหารจัดการน้ำ แผนการเร่งระบายน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น