สทนช.เร่งเครื่องวางแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ติดตามการบริหารจัดการ “อ่างเก็บน้ำคลองบางเหนียวดำ” และโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เตรียมพร้อมรับมือการท่องเที่ยว “ภูเก็ต” กลับมาบูม ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำพุ่งกระฉูด คาดปี 2582 ต้องใช้น้ำมากถึง 124.22 ล้าน ลบ.ม.
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่ สทนช. อยู่ในระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (SEA) มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี
โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาอย่างรอบด้านทั้งด้านวิศวกรรม อุตุ-อุทกวิทยา สภาพภูมิสังคม รวมถึงได้ทบทวนผลการศึกษาและการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันผู้ศึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 70 ครั้ง เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ของพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก
พร้อมจัดทำแผนหลักการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 20 ปี และแผนปฏิบัติการ 5 ปี ตลอดจนการพัฒนาแหล่งน้ำและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2564
สำหรับจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทำให้มีโรงแรมที่พักเกิดขึ้นในแทบทุกพื้นที่ตั้งแต่หัวเกาะจรด ท้ายเกาะ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเฉลี่ยปีละกว่า 14 ล้านคน สามารถนำรายได้เข้าประเทศถึงปีละกว่า 4 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยทะเล จึงทำให้แหล่งน้ำต้นทุนมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งสวนทางกับปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาพบว่าในปี 2562 มีความต้องการใช้น้ำรวมประมาณ 80.86 ล้าน ลบ.ม. (ไม่รวมการใช้น้ำการเกษตรนอกเขตชลประทาน) และคาดการณ์ว่าในปี 2572 จะเพิ่มเป็น 103.18 ล้าน ลบ.ม. และภายในปี 2582 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 124.22 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้สถานการณ์น้ำจังหวัดภูเก็ต อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างครอบคลุม
ปัจจุบัน จังหวัดภูเก็ต มีน้ำต้นทุนประมาณ 27.14 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี (เป็นน้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำผิวดิน 20.59 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือร้อยละ 75.87 น้ำใต้ดิน 2.55 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือร้อยละ 9.40 และการผลิตน้ำจืดจากทะเล 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือร้อยละ 14.73) แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่การผลิตน้ำประปาปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 125,800 ลบ.ม.ต่อวัน หรือ 45 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งก็สามารถให้บริการได้เพียงร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ต้องการใช้น้ำเท่านั้น
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องทั้งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำต้นทุนทั้งน้ำจืด น้ำทะเล น้ำใต้ดิน รวมถึงมีการวางแผนการส่งเสริมการผลิตน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับกับปริมาณความต้องการใช้น้ำในอนาคตและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ต เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ จนต้องทำให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจังหวัดต้องร่วมมือกันทุกรูปแบบ แก้ไขปัญหาจนผ่านพ้นไปได้ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบกลาง ปี 2563 ให้จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 ครั้ง 1,104 โครงการ วงเงิน 1,963.55 ล้านบาท ดำเนินการโดย 7 หน่วยงาน
ประกอบด้วย การประปาส่วนภูมิภาค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมเจ้าท่า กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกองทัพบก ได้ปริมาณน้ำดิบ 10.13 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ 3.20 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 42,297 ไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 10,770 ครัวเรือน
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มอบหมายให้ สทนช.ดำเนินการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาวต่อไปด้วย
คณะเลขาธิการ สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำที่อ่างเก็บน้ำคลองบางเหนียวดำ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อ่างเก็บน้ำ (อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ) ที่เป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญสำหรับการผลิตน้ำประปา โดยทั้ง 3 แห่ง สามารถกักเก็บน้ำดิบได้รวมกันประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. (รวมระบบสูบกลับ) และได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโรงผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ของ บริษัท อาร์ อี คิว วอเตอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด
โดยการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลด้วยเทคโนโลยี Reverse Osmosis ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 10,000-12,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยน้ำประปาที่ได้จะส่งไปให้พื้นที่การท่องเที่ยวบริเวณหาดกะรน หาดกะตะและหาดกะตะน้อย ในอัตราร้อยละ 35 ที่เหลืออีกร้อยละ 65 จะส่งไปยังพื้นที่หาดป่าตองเพื่อเป็นน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับการท่องเที่ยวต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น