นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรฯ นั้น
คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ได้จัดการประชุมครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบโครงการ “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” โดยจะส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตร (Agroindustry) 18 แห่ง ใน 18 กลุ่มจังหวัดทุกภาค เพื่อเป็นฐานการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกร
ทั้งนี้เช่นสภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นต้นมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ ศูนย์ AIC ทุกจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนในโครงการนี้ โดยได้นักบริหารมืออาชีพระดับประเทศมาเสริมทัพเป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร คือ ดร.กนก อภิรดี อดีตประธานธนาคารเอสเอ็มอี และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
นอกจากนี้ กรกอ. ยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
“กรกอ.” ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการและกิจกรรมอีกหลายเรื่องได้แก่ 1. “โครงการอุตสาหกรรมไก่ฮาลาลครบวงจรภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล โดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล ผลิตภัณฑ์อาหารโดยจะมีการลงนามความร่วมมือที่จังหวัดยะลาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
2. รายงานความก้าวหน้าโครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ว่าด้วยโปรตีนจากพืช (Plant based protein) ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกใหม่ โดย นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานบริษัท NRF และผู้แทน WEF (World Economic Forum) ซึ่งพร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชโปรตีน เช่น ถั่วเขียวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในรูปเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) 3. รายงานสถานการณ์และแนวโน้มอนาคตของอุตสาหกรรมเกษตรและโครงการ Food Valley โดย นายยงวุฒิ สาวพฤกษ์ อดีตผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบัน
4. รายงานการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech & Innovation) โดย นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน AIC 5. รายงานเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้านแคตตาล็อคนวัตกรรมเกษตร (Innovation Catalogue) โดย ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ประธานอนุกรรมการเกษตรอัจฉริยะ 6. รายงานความก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรอาหาร โดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรม อุดรธานี จํากัด
7. รายงานแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรแนวอัตลักษณ์ (4DNA) และโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อการเพิ่มมูลค่าเชิงทวีคูณภายใต้แนวคิดการใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Economy Creation) เพื่อการพัฒนาการเกษตร โดย ผช.ศจ.เอกพงษ์ ตรีตรง คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และอดีตคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ 8. รายงานแนวทางการส่งเสริมอาหารเสริมและยาด้วยสมุนไพรไทยสำหรับปศุสัตว์ โดย ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ที่ประชุม กรกอ. ได้พิจารณาเห็นว่าภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปัญหาและโอกาสจึงต้องมีแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร (Food & Agroindustry Transitional Master Plan) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยโดยเฉพาะเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรอาหาร จึงมีมติให้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางและแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร (Food & Agroindustry Transformation subcommittee)
โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์ เกษตรอาหาร โดยเชื่อมโยงการพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร เริ่มตั้งแต่ ต้นทาง คือ การจัดหาวัตถุดิบ การปรับปรุงพันธุ์ การผลิต การพัฒนาระบบมาตรฐานเกษตรและอาหารโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแม่นยำ
ส่วนกลางทาง คือ การแปรรูป การพัฒนาเทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์ ปลายทาง คือ การส่งเสริมการการตลาด การสร้างแบรนด์ การบริการและการขนส่ง โดยตลอดกระบวนการผลิต จะเน้นการนำผลงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยของภาครัฐและเอกชนและศูนย์ AIC มาต่อยอดให้มูลค่าเศรษฐกิจเกิดผลเชิงพาณิชย์
สำหรับโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัดนั้น มีอย่างน้อย 8 กลุ่มจังหวัดที่กำลังดำเนินการและอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ 1. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง 3. กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 4. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 5. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (อีอีซี.) 6. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (กลุ่มล้านนา) 7. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และ 8. กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง
อย่างไรก็ตาม กรกอ.จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ในการสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างระบบการแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงโครงสร้างทั่วประเทศเป็นกระจายการลงทุน การสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายโอกาสสร้างความสมดุลในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและส.อ.ท.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น