ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยจัดการประชุมออนไลน์ ในหัวข้อ “Wastewater Treatment Solutions from Hungry” ให้แก่ 5 หน่วยงานของประเทศไทย ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค กรมควบคุมมลพิษ องค์การจัดการน้ำเสีย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเมืองพัทยา เพื่อแนะนำหน่วยงานและนวัตกรรมความเชี่ยวชาญของฮังการีในการบริหารจัดการน้ำเสีย (wastewater management) และการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด
โดยมีการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การดำเนินการอย่างสมบูรณ์ของโรงบำบัดน้ำดื่ม การก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียการผลิตน้ำแบบเคลื่อนที่ในตู้คอนเทนเนอร์ และระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็ก โรงแยกเกลือออกจากเยื่อกรอง และเทคโนโลยีรีไซเคิลสำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการบำบัดน้ำเสียจากภาคเกษตรนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการติดตามความก้าวหน้าตามเอ็มโอยู โดยการหารือแนวทางที่จะทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้จัดการเจรจาจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ โดยการประสานงานในรายละเอียด กระบวนการ กรอบแนวทางที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยีระหว่างกันต่อไปในอนาคต ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ไทยและฮังการีได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เอ็มโอยู)
ที่ทั้งสองประเทศได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงมหาดไทยฮังการี ณ กรุงบูดาเปสต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง การจัดการน้ำเสีย และการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลที่ฮังการีมีความเชี่ยวชาญ
รัฐบาลมีความพยายามในทุกวิถีทางในการสร้างความมั่นคงน้ำให้กับประเทศ และต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นอกจากเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้แล้ว ยังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ จากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ
โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำเสียเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ การผลิตน้ำทะเลเป็นน้ำจืดที่เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานำร่องในเขตพื้นที่ EEC โดยมี สทนช. ในฐานะหน่วยงานระดับนโยบายการพัฒนาด้านน้ำของประเทศ อำนวยความสะดวกในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้น และขยายผลไปสู่หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น