เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2564  เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวง และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยในช่วงเช้าได้มีการจัดพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 

หลังจากนั้นประธานได้ตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 10 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับนักบินที่ไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 7 ชุด ชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ 1 ชุด ชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพบก 1 ชุด และชุดอากาศยานปีกหมุน 1 ชุด จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการทั่วประเทศ  

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า ตามที่สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคน้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 



จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในวันนี้ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย

สำหรับในปี 2564 มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน 

รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปพื้นที่ภาคเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประจำปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ 



ประกอบด้วย 1.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET จำนวน 1  และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก ณ สนามบินท่าอากาศยานตาก อำเภอเมือง จังหวัดตาก โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

2.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ณ กองบิน 46 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CASA จำนวน 2 ลำ และชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

3. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินของกองทัพบก ชนิด CASA  จำนวน 1 ลำ และตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี ณ สนามบินกาญจนบุรี ค่ายสุรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป



4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ณ สนามบินกองบิน 23 อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CN จำนวน 1 ลำ และ ตั้งฐานเติมสารฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ณ สนามบินท่าอากาศยานขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป 

5. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

6. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN จำนวน 2 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป



7. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ กองบังคับการกองบิน 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CN จำนวน 1 ลำ และ ตั้งหน่วยปฏิบัติการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิด CARAVAN 2 ลำ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป










ความคิดเห็น