"พลเอก ประวิตร"สั่งกอนช.ติดตามสถานการณ์น้ำเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาป้องกระทบคุณภาพน้ำประปา จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาด ก.พ. - มี.ค. ระดับน้ำเพิ่มสูงสุดอีก 4 ครั้ง ก่อนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ งัดมาตรการเร่งด่วนปรับเพิ่มการระบายน้ำเท่าที่จำเป็น พร้อมจัดรอบเวรการใช้น้ำ เข้มการสูบน้ำพื้นที่เกษตรนอกแผน เคร่งครัดเพื่อรักษาน้ำต้นทุน ควบคู่กับแผนระยะยาวที่ยั่งยืน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยหลังประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ว่า ที่ประชุมได้เร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเค็มกระทบคุณภาพน้ำประปาในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง และแม่กลอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการ กอนช. สั่งการกำชับให้ต้องเร่งรัดแก้ไขเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. จะยังคงมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอีก จำนวน 4 ครั้ง โดยสูงสุดในช่วงวันที่ 10 -19 ก.พ., 25-28 ก.พ., 9-12 มี.ค. และ 26-28 มี.ค. จากนั้นระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงในเดือนเมษายนแต่จะยังมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอยู่บ้าง แต่อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ที่ประชุมมอบหมายกรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา และผันน้ำจาก 2 เขื่อนลุ่มน้ำแม่กลองไม่เกิน 500 ล้าน ลบ.ม. พร้อมประเมินน้ำต้นทุนที่จะต้องมีน้ำสำรองเพียงพอถึงต้นฤดูฝน ทั้งนี้ กอนช.เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องควบคุมติดตามการใช้น้ำ จัดรอบเวร รวมถึงกำหนดเวลาการเปิดปิดอาคารชลประทาน การสูบใช้น้ำทั้งพื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบปัญหาการผลักดันน้ำเค็มได้ไม่เป็นไปตามแผน และเกิดน้ำประปากร่อยบางช่วงเวลาอย่างที่ผ่านมาได้อีก
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการชี้แจงสร้างความเข้าใจร่วมกับท้องถิ่นและหน่วยปกครอง พร้อมทั้งกวดขันดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบน้ำต้นทุนที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการใช้น้ำต่าง ๆ ด้วย ขณะเดียวกัน กอนช. ยังได้มีการวางแผนระยะยาว ซึ่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มได้อย่างยั่งยืน อาทิ การเพิ่มน้ำต้นทุนจากลุ่มน้ำแม่กลองให้เต็มศักยภาพ โดยการประปานครหลวง อยู่ระหว่างดำเนินแผนการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก
เพื่อขยายกำลังการผลิตน้ำประปาของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบส่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในระบบสูบจ่ายน้ำส่งพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 0.8 ล้าน ลบ.ม./วัน รวมไปถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการย้ายจุดสูบน้ำสำแล ขึ้นไปด้านเหนือน้ำ ให้พ้นระยะน้ำเค็มรุกล้ำ เช่น บริเวณ อ.บางไทร จ.อยุธยา และการใช้น้ำบางส่วนจากคลองเปรมประชากร เมื่อมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำและสามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในการแก้ไขปัญหาผลกระทบน้ำเค็มอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้ภายในปี 2566
แม้ว่าจะมีการเตรียมพร้อมและดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนควบคุมน้ำเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม โดยกรมชลประทานได้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 80-100 ลบ.ม./วินาที ตามจังหวะน้ำทะเลหนุน และ เขื่อนพระรามหก 25-35 ลบ.ม./วินาที ร่วมกับการปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water hammer) และ การบริหารปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามจังหวะน้ำทะเลหนุน
เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ประสบผลสำเร็จอย่างดีในปี 2563 แต่ด้วยสถานการณ์น้ำเค็มในปีนี้ที่รุนแรงกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันต้องมีการะบายน้ำมากกว่าในปีที่ผ่านมา ขณะที่น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาไม่แตกต่างกันมากนัก แต่กลับพบว่ามีการสูญเสียน้ำระหว่างทางค่อนข้างมาก
อุปสรรคสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากพบว่า มีการดึงน้ำออกจากระบบระหว่างทางที่ส่งมาเพื่อรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค การปลูกพืชใช้น้ำน้อยและไม้ผลยืนต้น โดยเฉพาะพื้นที่การปลูกข้าวนาปรับนอกแผนไปจำนวนมาก ประมาณ 750 ล้าน ลบ.ม. จากแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ต้นฤดูกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับเป็นจังหวะระดับน้ำทะเลหนุนสูง
รวมถึงเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm surge) จากลมสอบปากอ่าวไทย จึงส่งผลให้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 64 เกิดความเค็มสูงเกินเกณฑ์อย่างรวดเร็วและรุนแรง ที่สถานีสูบน้ำสำแล ในเกณฑ์ 2.53 กรัม/ลิตร จึงได้มีการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนต่าง ๆ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระราม 6 และขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเตรียมรับมือกับระดับน้ำทะเลที่จะขึ้นสูงในช่วงฤดูแล้งนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนการระยะยาวเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น