"ชลประทาน"ปัจฉิมนิเทศฯผันน้ำอ่างฯแม่มอกช่วย"นาขุนไกร"

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการศึกษาความเหมาะสม โครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำแม่มอกช่วยเหลือพื้นที่ตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานเปิดการประชุมฯ นายไชยงค์ จงอาสาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 นายโสภัญญ์ ศรีสว่างวรกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุโขทัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ราษฎรในพื้นที่ และสื่อมวลชน รวมกว่า 150 คน  เข้าร่วมการประชุม ณ อาคารเอนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย  

ในที่ประชุมได้ชี้แจงถึงโครงการเพิ่มแหล่งน้ำ ปรับปรุงศักยภาพลำน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง จะได้ปริมาณน้ำมาใช้ในพื้นที่ตำบลนาขุนไกร กว่า10ล้านลบ.ม.จากความต้องการใช้น้ำปีละ60 กว่าล้านลบ.ม.



ทางด้านตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลนาขุนไกร ระบุว่าพื้นที่นี้แล้งมากถึงมากที่สุดไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลได้ มีความยินดีมากที่กรมชลประทาน เห็นความสำคัญเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่แห้งแล้ง 

นายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาและพิจารณาเบื้องต้นของการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ไปช่วยเหลือพื้นที่ตำบลนาขุนไกรนั้น พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมจากอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าปริมาณน้ำจากอ่างฯ อาจไม่เพียงพอใช้ 

หากมีการผันไปยังพื้นที่ตำบลนาขุนไกร แม้จะเป็นน้ำที่ล้นอาคารระบายน้ำล้นก็ตาม เพราะทางด้านท้ายน้ำที่อยู่ห่างจากอ่างฯ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนที่ล้นดังกล่าวได้  ทางคณะที่ปรึกษาจึงได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำในเขตตำบลนาขุนไกร เพื่อแก้ปัญหาให้กับราษฎรในพื้นที่ให้ได้ 



โดยราษฎรมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภค บริโภค ตลอดทั้งปี ประมาณ 66.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น กรมชลประทานจึงมีแนวคิดในการจัดหาน้ำต้นทุนมาเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว 2 แนวทาง คือ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในเขตพื้นที่ตำบลนาขุนไกร และการนำน้ำจากนอกเขตพื้นที่ตำบลนาขุนไกรมาใช้

สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ มีการศึกษาความเหมาะสมการสร้างอ่างเก็บน้ำ 1 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสะเดา มีความจุ 2.30 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 2,500 ไร่ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง ประมาณ 3 ปี พื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 34 ราย ทั้งนี้ ในเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบยินยอมให้มีการก่อสร้างได้ หากได้รับค่าชดเชยเวนคืนที่เหมาะสม โดยร่วมกันให้ความเห็นว่า ถ้าโครงการแล้วเสร็จจะได้รับประโยชน์จากโครงการมากกว่า







ความคิดเห็น