เตือน ! ภาคตะวันออกใช้น้ำประหยัดแม้หน้าแล้งมีเพียงพอ

"กรมชลฯ"ขอทุกภาคส่วนภาคตะวันออก ประหยัดน้ำ แม้ฤดูแล้งปีนี้จะมีน้ำเพียงพอใช้ แต่ยังต้องสำรองไว้ใช้ในอนาคตหากขาดแคลน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปัจจุบัน (11 มี.ค. 64) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 712 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีอยู่ 55 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 548 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกอยู่ในเกณฑ์ดี เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการสนับสนุนการผลิตน้ำประปา รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้



ส่วนสถานการณ์ค่าความเค็มและคุณภาพน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี-แม่น้ำบางปะกง นั้น กรมชลประทาน ได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระสะทึง และอ่างเก็บน้ำพระปรง รวมกันประมาณวันละ 1.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยล่าสุด (10 มี.ค. 64) ที่สถานีวัดบางคาง อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี วัดค่าความเค็มสูงสุด 0.07 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง(เกณฑ์เฝ้าระวังน้ำเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร)



นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวม 33 เครื่อง ได้แก่ จ.นครนายก 9 เครื่อง, จ.ปราจีนบุรี 12 เครื่อง, จ.ฉะเชิงเทรา 8 เครื่อง และ จ.จันทบุรี 4 เครื่อง พร้อมสำรองเครื่องสูบน้ำที่สำนักงานชลประทานที่ 9 อีก 12 เครื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในฤดูแล้งปีนี้ จะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมอื่นๆ 



รวมไปถึงการสนับสนุนน้ำให้ EEC ด้วย แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนน้ำให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน







ความคิดเห็น