นางนรีลักษณ์ วรรณสาย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยที่ส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า
โดยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 วัน 38 เที่ยวบิน สามารถช่วยเหลือพื้นที่ 7 จังหวัดที่ประสบปัญหาดังกล่าว ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา กำแพงเพชร แพร่ และตาก รวมถึงยังปฏิบัติการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า จำนวน 15 วัน 222 เที่ยวบิน รวมปริมาณน้ำ 111,000 ลิตร ช่วยเหลือ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่และลำพูน
ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่า 30% เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ปรับแผนตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 13 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ดังนี้คือ-ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก ตั้งฐานเติมสารที่ จ.แพร่-ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.กาญจนบุรี ลพบุรี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.นครสวรรค์-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ขอนแก่น-ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.จันทบุรี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ระยอง-ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม 2564 โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หมอกควันไฟป่า ยั้งยับพายุลูกเห็บ และเติมน้ำในเขื่อน จำนวน 27 วัน 334 เที่ยวบิน มีจังหวัดรายงานฝนตก 37 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 53.70 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 32 แห่ง โดยเป็นเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 18 แห่ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น