"สทนช."ถกท่าทีไทยลดอุปสรรคการอพยพของปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

สทนช.จัดเวทีถกท่าทีไทยต่อร่างรายงานแนวทางแก้ปัญหาทางผ่านปลาเอื้อลดอุปสรรคการอพยพของปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างฉบับสุดท้าย ก่อนเสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมหารือแนวทางการพัฒนาโครงการชลประทานในประเทศให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและพันธุ์ปลาในลำน้ำโขง

ดร.สมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า  สทนช.ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือระดับประเทศ เรื่อง การจัดทำร่างรายงานแนวทางฉบับสุดท้ายของอุปสรรคทางปลาผ่าน และโครงการชลประทานที่เป็นมิตรต่อปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Guideline to Prioritizing Existing Fish Passage Barriers and Create Fish Passage Barriers and Create Fish Friendly Irrigation Structures in the Lower Mekong Basin) ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

อาทิ กรมประมง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหารือข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อร่างรายงานแนวทางฉบับสุดท้ายของอุปสรรคทางปลาผ่าน และโครงการชลประทานที่เป็นมิตรต่อปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง  ก่อนจัดทำเป็นความเห็นและท่าทีของประเทศไทยแจ้งต่อสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS)



เพื่อดำเนินการสรุปสุดท้ายในการจัดทำรายงานแนวทางฯ เสนอคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาต่อไป อาทิ การจัดทำบันไดปลาที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการอพยพของปลา ซึ่งพิจารณาชนิดพันธุ์ปลา และพฤติกรรมของปลา โดยอาศัยหลักตามธรรมชาติ ความเร็วของน้ำที่เหมาะสม เพื่อจำลองรูปแบบให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยไม่กระทบกับการเดินทางของปลา 

ขณะเดียวกัน ยังเป็นไปตามหลักทางวิศกรรมชลประทานที่มีความปลอดภัย ทั้งในส่วนของโครงการที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ รวมถึงการปรับปรุงโครงการชลประทานเดิมที่มีอยู่ในลำน้ำสาขาของโขง อาทิ ฝาย ประตูระบายน้ำ ทางรอดต่าง ๆ ที่บางจุดพบว่าเป็นสิ่งกีดขวางทางอพยพของปลาด้วยเช่นกัน

หลังจากที่ สทนช.หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับประเทศแล้วเสร็จ จะสรุปข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอเป็นท่าทีประเทศไทย สำหรับร่างรายงานฉบับสุดท้ายของอุปสรรคทางปลาผ่าน และโครงการชลประทานที่เป็นมิตรต่อปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างมีความสมบูรณ์ และนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ให้กับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างนำไปปฏิบัติ เพื่อคงรักษาพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขงที่จะช่วยสนับสนุนวิถีชีวิตประชาชนริมน้ำโขงและลำน้ำสาขาให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต



ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากโครงการชลประทานในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจำนวนมากขัดขวางการอพยพของปลา อันเนื่องมาจากไม่มีทางปลาผ่าน ซึ่งในปี 2015 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้เริ่มจัดทำร่างรายงานแนวทางฯฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษาดัชนีชี้วัดและเกณฑ์ในการติดตั้งทางปลาผ่าน ต่อมาในปี 2018 ได้มีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (ACIAR) และกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกา (US-DOI) ซึ่งได้ดำเนินโครงการความคิดริเริ่มทางผ่านปลาในลุ่มน้ำโขงตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2016 ร่วมกับ สปป.ลาว  ไทย กัมพูชา เวียดนาม และพม่า

โดยประเทศไทยมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและเลือกฝายห้วยวังช้าง จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่นำร่องทางปลาผ่านสาธิต ซึ่ง MRCS ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดทำรายงานประเทศจากผลการดำเนินการพื้นที่นำร่องและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่างรายงานฯ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อนำเสนอร่างรายงานแนวทางฯ ฉบับสุดท้ายให้ประเทศสมาชิกให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่ง MRCS ได้มีการแก้ไขตามความเห็นประเทศแล้ว ดังนั้น กระบวนการต่อไป คือ การนำท่าทีของ 4 ประเทศสมาชิกที่จะมีการประชุมระดับประเทศมาพิจารณาปรับแก้ไขเป็นรายงานแนวทางฯฉบับสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป

 





ความคิดเห็น