"อลงกรณ์”ชี้แนวโน้มเสถียรภาพ-ราคายางปี 64 ดีขึ้น

"อลงกรณ์"ชี้แนวโน้มเสถียรภาพและราคายางปี64. ดีขึ้นหลังเดินหน้า" 5 ยุทธศาสตร์เกษตร"เฉลิมชัย" มอบฑูตเกษตร-พาณิชย์ร่วมกับกยท. เปิดแนวรุกบุกตลาดเพิ่มส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศดันส่งออกผลิตภัณฑ์ยางดึงศูนย์AIC"มอ.-มจพ."ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนายางทั้งระบบ 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยว่าจากการประชุมคณะกรรมการที่ผ่านมาโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเช่นนายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการฯ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ดร.รังสิมา หญีตสอน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรศ.อาซีซัน แกสมาน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฯลฯและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าแนวโน้มเสถียรภาพและราคายางในปี 2564 มีทิศทางดีขึ้นหลังเดินหน้า”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”



โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและยุทธศาสตร์การบูรณาการทุกภาคีภาคส่วนซึ่งถือป็นครั้งแรกที่จัดประชุมออนไลน์กับทูตเกษตรของไทยในประเทศคู่ค้าคู่แข่งสำคัญๆเช่นจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐ เม็กซิโก รายงานสถานการณ์การนำเข้าส่งออกยางและภาวะการค้าการแข่งขันทั้งปัญหาและโอกาสในประเทศเหล่านั้นพร้อมข้อเสนอแนะเป็นการผนึกการทำงานข้ามประเทศระหว่าง สำนักเกษตรต่างประเทศ กับกยท. ในการเปิดแนวรุกบุกตลาดเก่าใหม่เพื่อให้กยท.ปรับกลยุทธ์โดยตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด(Market Share)ผลัดดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิดฝ่าวิกฤติโควิด19  

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)ซึ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AIC(Agritech and Innovation Center)นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆที่พร้อมถ่ายทอดสู่สถาบันเกษตรกร ชาวสวนยางและผู้ประกอบการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ(Productivity)

การผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางทั้งระบบโดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกยางอันดับ1ของโลก ประการสำคัญคือรายได้ของชาวสวนยางต้องเพิ่มขึ้น ภายใต้แผนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่สำหรับสวนยางและอุตสาหกรรมยางเพื่อลดต้นทุนเพิ่มมูลค่าและราคายาง

ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเป็นแชมป์โลกผู้ส่งออกยางแต่ก็ยังมีอิทธิพลต่อกลไกตลาดและราคาน้อยมากซึ่งการส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบมูลค่าน้อย การรักษาเสถียรภาพราคาและการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางจึงอยู่บนความไม่แน่นอน คณะกรรมการจึงกำหนดกลยุทธ์ใหม่ๆเช่น ในระดับต้นน้ำมอบหมายศูนย์AICทั่วประเทศนำผลการวิจัยและพัฒนามาพัฒนายางทั้งระบบตั้งแต่การผลิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆส่วนกลางน้ำร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยางเช่น”โครงการ1กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม”

โดยกยท.รายงานล่าสุดว่าโครงการRubber Valley(โครงการ ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช :Study suitability and development of the rubber industry in Nakhon Si Thammarat Province)ตามนโยบายของเพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(South ern Economic Corridor)ของรัฐบาลสู่การพัฒนาและ ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบได้ดำเนินศึกษาระยะที่1เสร็จแล้วและจะเสนอให้คณะกรรมการบริหารกยท.พิจารณาภายในเดือนเมษายนนี้

สำหรับปลายน้ำเร่งพัฒนากลยุทธ์การตลาดโดยกยท.ผนึกทูตเกษตรและทูตพาณิชย์รวมทั้งภาคเอกชนภายใต้โมเดล”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”เจาะตลาดทั้งเก่าใหม่ ตลาดเก่าก็ให้เพิ่มส่วนแบ่งตลาด(Market Share)ตลาดใหม่ก็สร้างหุ้นส่วนการค้าใหม่ๆเช่นตลาดเม็กซิโกมีโอกาสสูงมากและจะพัฒนาเป็นเกตเวย์สู่ตลาดลาตินอเมริกาและอเมริกากลาง 

สำหรับตลาดเก่าส่วนใหญ่แนวโน้มดีทุกตลาดเช่นญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อน”5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย”และการพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆแม้จะเผชิญกับวิกฤติโควิด19และปัญหาโคลนติดล้อในอดีตหรืออุปสรรคนานัปการแต่เราก็สามารถฝ่าแนวรบนี้มาได้และมีทิศทางแนวโน้มดีขึ้น การประชุมครั้งต่อไปจะเชิญทูตพาณิชย์ไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญๆและศูนย์AICร่วมประชุมด้วย



ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก มีพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศรวม 22 ล้านไร่ และส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก โดย นำรายได้เข้าประเทศปีละประมาณกว่าแสนล้านบาทและมีการจ้างงานทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.44 ล้านครัวเรือน

อุตสาหกรรมยางพาราไทยยังมีปัญหาหลายประการที่ต้องเร่งแก้ไข ในระดับต้นน้ำเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย การผลิตยังเป็น แบบครอบครัว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นต้น และเป็นกิจการขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ยังมีข้อจ้ากัดด้านเงินทุนและเทคโนโลยีการผลิต 

การพัฒนายางพาราทั้งระบบยังมีอุปสรรคในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขีด ความสามารถในการแข่งขัน รวมถึง ราคายางธรรมชาติมีความผันผวนกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมยางพาราการบริหารยุคใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเดิมเติมด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ใหม่ๆ    

คณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษา เสถียรภาพราคายาง มีหน้าที่ในการพิจารณาปัญหาและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคายางให้มีเสถียรภาพ เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาราคายางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยทั้งหมดจะเสนอข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาราคายางต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป







 

ความคิดเห็น