"สทนช."เล็งขยายผลศึกษาสิ่งแวดล้อมไฟฟ้าน้ำโขงสู่มาตรการแก้ไขเชิงนโยบาย

“พลเอก ประวิตร” ห่วงผลกระทบน้ำโขง มอบ สทนช.เร่งแผนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงปี’64  พร้อมต่อยอดผลศึกษาช่วง 7 ปีที่ผ่านมา พร้อมรับข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายน้ำโขง ขยายผลแก้ปมพื้นที่เปราะบางได้รับผลกระทบ เอื้อกลไกคณะอนุฯ น้ำ 8 จังหวัดริมโขงผลักดันโครงการรับมือผลกระทบ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) มีความเป็นห่วงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งระดับน้ำและระบบนิเวศ ซึ่งอาจมาจากการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและสภาพฝนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มอบหมายให้ สทนช.ประสานทุกหน่วยงานและภาคประชาชนศึกษา ติดตาม และวางแผนป้องกันอย่างเข้มข้น 

ขณะนี้ สทนช.ได้เริ่มดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ประจำปีงบประมาณ 2564  โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.64 – 13 ม.ค.65 ระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 270 วัน ซึ่งเป็นโครงการศึกษาต่อเนื่องตามมติคณะกรรมการแม่น้ำโขงที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 

โดยจะสิ้นสุดภายในปี 2571 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 15 ปี ทั้งนี้ แผนดำเนินการศึกษาฯ ในปี 2564 จะมีความต่อเนื่อง เชื่อมโยง และมีนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในช่วง 7 ปี (ปี 2557 – 2563) ที่ผ่านมาด้วย ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ 1.) ศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน 



เพื่อให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น เชื่อมโยงไปสู่การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงและทบทวนพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเรื่องอัตราการไหล ระดับน้ำ ตะกอนในน้ำ คุณภาพน้ำ การประมง รวมถึงระบบนิเวศ 

2.) พัฒนา ปรับปรุงระบบฐานข้อมูล และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลที่ได้จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน รวมถึงต้องมีความเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย 3.) ประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบ และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อ 8 จังหวัดริมโขง และ 4.) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วย

อย่างไรก็ตาม สทนช. จะมีการติดตามผลการศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับบริษัท ยูไนเต็ดแอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นระยะ ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาเสนอเป็นมาตรการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการพิจารณาประเด็นอ่อนไหว รวมถึงทบทวนพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ ตามข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายลุ่มน้ำโขงที่เสนอมายังรัฐบาล

เพื่อขยายขอบเขตการคึกษาและติดตามประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และสร้างองค์ความรู้ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม สำหรับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะสั้นสู่การปฏิบัติให้ได้โดยเร็ว หรือวางมาตรการในปีต่อไป โดยเฉพาะในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงที่เป็นจุดเปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง







 


“เงื่อนไขสำคัญในการศึกษาฯ ครั้งนี้ สทนช.ได้เน้นย้ำการได้มาของการสำรวจ เก็บข้อมูล การวิเคราะห์ ที่ต้องอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปสู่การประสานความร่วมมือหรือการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่ต่อเนื่องจากผลการศึกษาที่ได้รับ จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดมาตรการ แผนงานโครงการทั้งแนวทางการรับมือ หรือการป้องกันแก้ปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ผ่านกลไกการขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”ดร.สมเกียรติ กล่าว


ความคิดเห็น