เร่งแผนรับฝนป้องกันน้ำท่วมกทม.

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายมนต์ชัย มโนสมุทร ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงพื้นที่ติดตามแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปี 2564 ร่วมกับ นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมชีนิมิตร สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง เพื่อประชุมติดตามความพร้อมมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ 

ก่อนเดินทางต่อไปยังท่าเรือวาสุกรี สโมสรราชนาวี เพื่อลงเรือติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จุดรอยต่อในการรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน รวมถึงสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นคณะได้เดินทางต่อไปยัง กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อหารือร่วมกับ พลเรือโท จักรกฤช มะลิขาว เจ้ากรมอุทกศาสตร์ ในเรื่องระบบติดตามระดับน้ำทะเล ระดับน้ำขึ้นลง พร้อมศึกษาข้อมูลอุทกศาสตร์ต่างๆ การคาดการณ์ระดับน้ำทะเล และการประเมินสถานการณ์การรุกล้ำของน้ำเค็ม 



เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณากรอบแนวทางมาตรการและแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยที่ประชุม กนช. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย  เพื่อร่วมศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ เสนอแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนและระยะยาว จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ อาทิ สทนช. กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าวนัดแรกในวันที่ 8 เม.ย.นี้

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการหลายหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระบบป้องกันน้ำท่วมของตนเองและระบบคูคลองที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่จังหวัดปริมณฑลเพื่อการระบายน้ำ และการจัดหาพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ 



โดยประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทานและจังหวัดปริมณฑล ในการควบคุมปริมาณน้ำในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมาณน้ำนอกพื้นที่ตอนบนกรุงเทพมหานครเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งสองพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงท่วมซ้ำซากในเขต กทม.ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด 

ขณะที่การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำได้ร่วมมือกับกรมชลประทาน การประปานครหลวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปฏิการผลักดันลิ่มน้ำเค็ม (Water Hammer Operation) ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี 

กทม.ใช้สถานีสูบน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำในแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาในการสูบน้ำช่วยปฏิบัติการดังกล่าว หากช่วงใดมีค่าความเค็มเกินมาตรฐานและอาจส่งผลกระทบต่อการเกษตร หรือสัตว์น้ำในพื้นที่ จะใช้วิธีการควบคุม การปิดเปิดประตูระบายน้ำ ลดการนำน้ำที่มีความเค็มจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไหลเวียน โดยจะใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครที่ผ่านการบำบัดแล้ว รวมกับน้ำพื้นที่มาใช้เพื่อเจือจางความเค็มในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง โดยคาดว่าช่วงที่จะมีค่าความเค็มสูงขึ้นหลังจากนี้จะมีอีก 2 ช่วง คือ 17-19 เม.ย. และ 28 เม.ย.- 3 พ.ค. นี้



ไม่เพียงแต่แผนปฏิบัติการที่แต่ละหน่วยงานจะเร่งดำเนินการร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันแล้ว  สทนช. จะนำข้อมูลการศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติ ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ ภายใต้โครงการนำร่องศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำกับระบบการประเมินด้านเศรษฐกิจและและพัฒนาระบบบัญชาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติโดยพิจารณาครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้มาใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำเชิงนโยบาย โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เป็นตัวชี้วัดบ่งชี้ภาวะน้ำแล้งแบบบูรณาการ เพื่อประกอบการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ภาวะปกติและภาวะวิกฤติ การใช้แบบจำลองเศรษฐกิจและอุทกวิทยา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของทุกหน่วยงานที่จะทำงานร่วมกันทั้งในภาวะปกติ หรือภายใต้การบัญชาการของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเมื่อเกิดกรณีวิฤติด้านน้ำในพื้นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย






ความคิดเห็น