พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีนโยบายให้ดำเนินการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทั้งที่มีแผนหลักดำเนินการแล้ว ให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการโดยเร็ว ได้แก่ บึงราชชนก จ.พิษณุโลก หนองหาร จ.สกลนคร และบึงสีไฟ จ.พิจิตร
รวมถึงพิจารณาแหล่งน้ำที่ยังไม่มีแผนชัดเจน เพื่อผลักดันให้เป็นโครงการสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เป็นแหล่งเก็กกับน้ำไว้ในประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบทบทวนแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการเพิ่มพื้นที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ มี 6 ด้าน 56 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุน 67 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ลดความเสียหายจากน้ำท่วม 21,000 ไร่ ช่วยพื้นที่ภัยแล้ง 85,000 ไร่ มีแผนปฏิบัติการเร่งด่วนปี’63-65 รวมทั้งสิ้น 10 โครงการ
ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 3 โครงการ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินการที่สำคัญ อาทิ การตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนเขตพื้นที่บึงบอระเพ็ดโดยกรมธนารักษ์ในเขตพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” ด้วยแนวคิดของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน การจัดการมูลดินจากการขุดลอกตะกอนดินบึงบอระเพ็ด จำนวน 5 ล้าน ลบ.ม. ได้ดำเนินการบริจาคเพื่อสาธารณะ 3.88 ล้าน ลบ.ม. ขนย้ายแล้วเสร็จ 80,000 ลบ.ม. การประมูลขายอีกประมาณ 5 แสน ลบ.ม.
ส่วนมูลส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับปรับภูมิทัศน์เชิงนิเวศต่อไป ส่วนแผนงานระยะต่อไปในปี’66 ได้เร่งรัดดำเนินการอีก 4 โครงการ ได้แก่ ปรับปรุงประตูระบายน้ำคลองบางปองและประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด สำหรับอ่างฯห้วยโสกซับแดงและอ่างฯคลองกำปาง ซึ่งเดิมอยู่ในแผนปี’68 ได้เร่งรัดการออกแบบเพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้เร็วขึ้นในปี’66 ด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ จำนวน 2 บึง ได้แก่ กว๊านพะเยา จ.พะเยา และเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย รวมถึงโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 15 โครงการ ให้เป็นโครงการสำคัญซึ่งจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป
โดยแผนการพัฒนากว๊านพะเยา จ.พะเยา มีเป้าหมายเพื่อการอุปโภค-บริโภค สำหรับผลิตน้ำประปาวันละ 20,000 ลบ.ม. (ปีละ 7.3 ล้าน ลบ.ม.) เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง 30,000 ไร่ ประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีหน่วยงานเสนอแผนงาน/โครงการ รวม 55 โครงการ เป็นด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ 38 โครงการ ดำเนินการ ปี’64-68 ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เวียงหนองหล่มและบริเวณในระยะ 5 ปี (ปี’64–68)
มีแนวทางการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) เตรียมความพร้อมพื้นที่ 2) กาารบริหารจัดการน้ำ 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4) แหล่งท่องเที่ยว และ 5) ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต รวม 56 โครงการ โดยเป็นการจัดการน้ำจำนวน 13 โครงการ พบว่า มีจำนวน 2 โครงการที่อยู่ในแผนเร่งด่วนในปี’64 ซี่งมีความพร้อมขอรับการสนับสนุนงบกลางปี’64 ได้แก่ การขุดลอกตะกอนดินเวียงหนองหล่ม และขุดลอกแหล่งน้ำหนองมโนราห์
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดปรับแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องทันต่อการบริหารจัดการน้ำ และคำนึงถึงการใช้งบประมาณตามความจำเป็นและคุ้มค่าที่สุด โดยมอบหมายให้ จ.พะเยาเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบแผนพัฒนาฯ กว๊านพะเยา และเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ จ.พะเยา พิจารณา
ขณะที่การพัฒนาเวียงหนองหล่ม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปรับแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะแผนงานในระยะเร่งด่วน ที่มีความพร้อมในการดำเนินการ และขอให้พิจารณามติ ครม.ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำด้วย เนื่องจากเวียงหนองหล่มเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ ทั้งนี้ กว๊านพะเยา และเวียงหนองหล่ม เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณโดยรอบ ซึ่งต้องมีการบูรณาการแผนงาน/โครงการจากหลายหน่วยงานครอบคลุมหลายมิติ อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดิน รักษาระบบนิเวศ แก้ปัญหาคุณภาพน้ำ รวมถึงใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น