บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดตัวโครงการใหญ่ “โครงการแม็คโครเคียงข้างเกษตรกรไทย สู้ภัยโควิด” รับซื้อสินค้าเกษตร ผัก-ผลไม้-สินค้าประมง ผ่านการรับซื้อตรงอย่างต่อเนื่อง หลังลงนามเอ็มโอยูกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ตั้งเป้าหมายรับซื้อเพิ่ม 20%
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่จบลงโดยง่ายและอาจยืดเยื้อไปอีกหลายเดือน ซึ่งได้สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมาก ที่ต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตระบายไม่ทัน ล่าสุดแม็คโครจึงได้เปิดตัว ‘โครงการแม็คโครเคียงข้างเกษตรกรไทย สู้ภัยโควิด’ หลังจากได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยได้รับซื้อสินค้าเกษตรจากชาวสวนชาวไร่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ผลไม้ตามฤดูกาล ผัก สินค้าประมง พร้อมวางแผนการส่งเสริมการขาย กระตุ้นการบริโภคให้กับลูกค้าทุกกลุ่มผ่านสาขาทั่วประเทศของแม็คโคร
“แม็คโคร เรามีทีมพี่เลี้ยงเกษตรกร ประจำภูมิภาคต่างๆ คอยทำหน้าที่ในการลงพื้นที่หาผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยที่มีคุณภาพ และร่วมกันพัฒนาเพื่อให้เกิดการทำเกษตรที่ยั่งยืนในระยะยาว ภายใต้หลัก การตลาดนำการผลิต อีกทั้งยังจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาคที่เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสให้เกษตรกรส่งผลผลิตขายโดยตรงมากขึ้น ประกอบกับการประสานงานกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ทำให้การแก้ปัญหา สินค้าเกษตรล้นตลาดเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถช่วยเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งคาดว่าในปีนี้เราจะรับซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 20% ”
แม็คโคร ได้วางแผนการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในหลายมาตรการ ประกอบด้วย
1. ขยายการรับซื้อและกระจายสินค้าสู่ทุกสาขาทั่วประเทศเพิ่มจาก 170,000 ตันในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะรับซื้อเพิ่มขึ้นอีก 20% หรือ 204,000 ตันในปีนี้
2. แผนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าย่อยในภูมิภาคต่างๆ 6 แห่ง เพิ่มโอกาสในการรับซื้อตรง (Direct sourcing) ให้เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ โดยเปิดแห่งแรกแล้วที่จังหวัดเขียงใหม่
3. การพัฒนามาตรฐานการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร ด้วยการจับมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนามาตรฐาน GAP ให้เกษตรกร จาก 1,200 ราย เพิ่มเป็น 1,500 รายในปี 2564
4. โครงการจับคู่ธุรกิจ Business Matching ตามภูมิภาคต่างๆ เพิ่มโอกาสเกษตรกรได้เข้าถึงช่องทางจำหน่ายที่มั่นคงอย่างแม็คโคร
5. การส่งเสริมสภาพคล่อง ด้วยการกำหนดระยะเวลาการชำระสินค้า (Credit Term) ส่วนใหญ่ ไม่เกิน 30 วัน
สำหรับผลผลิตที่รับซื้อจากเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาล้นตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมนี้ ประกอบด้วย ฟักทอง จากเกษตรกรกว่า 200 ครัวเรือนในภาคเหนือและภาคใต้จำนวน 303 ตัน, เผือก จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เผือกหอม อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ที่มีสมาชิก 100 ครัวเรือน จำนวน 200 ตัน, หน่อไม้หวาน จากกลุ่มเกษตรกร จ.สระแก้วและ จ.ฉะเชิงเทรา 150 ครัวเรือน จำนวน 208 ตัน, พริกสด จากกลุ่มเกษตรกร จ.พัทลุง 50 ครัวเรือน จำนวน 30 ตัน,
สับปะรดปัตตาเวีย จากกลุ่มแปลงใหญ่สับปะรด อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง 100 ครัวเรือน จำนวน 18,000 ผลต่อเดือน, สละอินโด จากเกษตรแปลงใหญ่ ต.ตะดละทรายทอง อ.ไม้แก่น และเกษตรแปลงใหญ่ ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 100 ครัวเรือน จำนวน 16 ตันต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีสินค้าประมง อาทิ ปลานิล จาก จ.นครพนม จ.โคราช จ.สงขลา 199 ครัวเรือน ซึ่งในระยะเวลาสองอาทิตย์ รับซื้อไปแล้วมากกว่า 3 ตัน และยังมีโครงการรับซื้ออย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
นางศิริพร กล่าวว่า ปัจจุบัน เรามีเกษตรกรรายย่อยที่เป็นคู่ค้ากับแม็คโคร มากกว่า 7,000 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นนี้ ยังมีเกษตรกรอีกมากมายที่กำลังเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราไม่เพียงแค่รับซื้อ แต่ยังวางแผนการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรรายนั้นๆ ได้เป็นคู่ค้าถาวร มีตลาดที่มั่นคงยั่งยืน ผ่านการกระจายผลิตผลไปยังลูกค้าผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญของแม็คโคร รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้าจากเกษตรกรไทยสู้ภัยโควิดอย่างต่อเนื่อง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น