ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยกรณีที่มีคลิปโหรชื่อดังทำนายดวงเมืองช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้ ซี่งมีเนื้อหาบางช่วงที่ได้ทำนายเกี่ยวกับการเกิดพายุในประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ เขื่อนต่าง ๆ ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง ว่าขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเนื้อหาของคำทำนายดังกล่าว
ที่ผ่านมา กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์พายุ สภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์น้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำในประเทศทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ และเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมา และก่อนเข้าสู่ฤดูฝนก็ได้วางแผนเตรียมการในเชิงป้องกัน ใน 10 มาตรการสำคัญที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก 3.ทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเขื่อนระบายน้ำ
4.ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ 8.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ 10.ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน โดยหน่วยงานด้านน้ำที่อยู่ภายใต้ กอนช.ได้ร่วมกันดำเนินการในมาตรการที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของการติดตามสถานการณ์พายุ และสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันระดมนักวิชาการติดตามสถานการณ์น้ำรายวัน รายสัปดาห์ และคาดการณ์ล่วงหน้ารายเดือน เพื่อประเมินวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 2-3 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งเป็นไปตามปกติของช่วงฤดูฝน และได้คาดการณ์ฝน (One Map)
ทั้งประเทศในเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2564 พบว่า เดือนกรกฎาคมมีปริมาณฝนรวม 188 มม. มากกว่าค่าปกติเพียง 0.4 มม. เดือนสิงหาคม มีปริมาณฝนรวม 219 มม. น้อยกว่าค่าปกติ 9 มม. (4%) เดือนกันยายน มีปริมาณฝนรวม 268 มม. มากกว่าค่าปกติ 27 มม. (11%) และเดือนตุลาคม มีปริมาณฝนรวม 177 มม. มากกว่าค่าปกติ 15 มม. (9%) ซึ่งตัวเลขจากคาดการณ์แสดงให้เห็นว่าปริมาณฝนที่ตกในประเทศไทยอยู่ใกล้เคียงปริมาณฝนเฉลี่ยและไม่ได้สูงมากจนน่ากังวล ในส่วนของปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่
คาดการณ์ว่าปลายเดือนกรกฎาคม จะมีเขื่อนที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่า 15% จำนวน 14 แห่งทั่วประเทศ และมีเพียงเขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง เพียงแห่งเดียวที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% ซึ่งกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบได้ติดตามสถานการณน้ำและควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการบริหารจัดการน้ำอยู่แล้ว
สำหรับในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน กอนช. คาดการณ์ว่า จะมีอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยงปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% จำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ 108% เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น 101% เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา 91% เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา 109% เขื่อนขุนด่านปราการชลฯ จังหวัดนครนายก 99% เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง 116% เขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง 94% และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 81%
กอนช. ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำในเขื่อนทั้ง 8 แห่งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุด โดยไม่ให้เกิดผลกระทบสร้างความเสียหายกับประชาขนและคำนึงถึงการสำรองปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งในปีต่อไปด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนได้ทางเว็บไซต์ www.onwr.go.th หรือ Facebook fanpage กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น