"กรมชลฯ"ปัจฉิมนิเทศ 3 โครงการนำร่องบรรเทาน้ำท่วมสุราษฎร์ฯ

"กรมชลประทาน"ปัจฉิมนิเทศโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ พื้นที่สุราษฎร์ธานี หวังบรรเทาปัญหาอุทกภัยรวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งจังหวัด ชู 3 โครงการสำคัญในพื้นที่อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง นำร่อง เพิ่มความสามารถการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นประธานเปิดการประชุมฯ นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 นายอาทร สุทธิกาญจน์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมวังใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี



การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อมูลและบทสรุปของโครงการที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ได้รับฟังข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาครวม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ พร้อมตอบข้อซักถาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและคลายประเด็นข้อกังวลต่าง ๆ ของประชาชน

สำหรับโครงการศึกษาบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีโครงการที่สำคัญและเหมาะสม จำนวน 3 โครงการ เป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย บริเวณพื้นที่อำเภอพุนพิน และอำเภอเมือง เป็นการก่อสร้างแก้มลิงในพื้นที่เพื่อหน่วงน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง 



โดยผันน้ำจากแม่น้ำตาปี-คลองท่าทอง เพื่อผันน้ำส่วนเกินไปเก็บกักไว้ในแก้มลิง สำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง ร่วมกับการผันน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูน้ำหลากออกไปทางคลองผันน้ำสายใหม่เลี่ยงเมืองสุราษฎร์ธานีออกสู่ทะเลต่อไป หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ในช่วงฤดูน้ำหลากจะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 200,000 ไร่ สามารถเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำได้กว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และยังสามารถเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ โดยมีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 26,700 ไร่



ส่วนโครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอไชยา จะใช้วิธีการผันน้ำเลี่ยงเมืองผ่านคลองส่งน้ำฝั่งขวา-คลองท่าปูน โดยปรับปรุงลำน้ำเดิม เช่น คลองไชยา คลองตะเคียน ตามศักยภาพที่มีโดยไม่กระทบต่อพื้นที่ทำกินของประชาชน อาทิ งานปรับปรุงฝายคลองไชยา (ฝายทดน้ำแบบพับได้) งานก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านป่าเว งานก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองท่าปูน งานปรับปรุงแก้มลิงทุ่งท่าเนียน เป็นต้น หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณ 28,315 ไร่ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554

โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำพื้นที่อำเภอท่าชนะ เป็นการขุดลอกคลองท่าชนะ คลองท่ากระจาย (เดิม) และห้วยหวัก พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองทั้ง 3 แห่ง เพื่อปิดกั้นน้ำเค็ม หากโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่าชนะ ตำบลคลองพา และตำบลสมอทอง รวมพื้นที่ 15,050 ไร่ รวมถึงสามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และการผลิตประปาอีกด้วย







ความคิดเห็น