"สทนช."จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ – ข้อมูลเทคนิคแก้ปัญหาน้ำเค็มรุก หวังดึงผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศร่วมหาแนวทางป้องกันน้ำเค็มอย่างเป็นระบบและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ความท้าทายเกี่ยวกับการรุกล้ำของน้ำทะเล” (Thailand - the Netherlands Technical webinar on Sea Water Intrusion) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ (MOU) เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างสองประเทศที่ได้ลงนามระหว่างกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
โดยการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก นายเกส ปีเตอร์ ราเดอ (H.E. Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสถาบันวิจัย Deltares และ TU Delft ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงเทคนิค และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญของเนเธอร์แลนด์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยเกี่ยวกับความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุก อาทิ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร
การเร่งแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำจืดลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของลำน้ำ โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ที่ภาคส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกตัวในลุ่มน้ำทั้ง 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง
ดังนั้น การหารือในเชิงเทคนิคระหว่างสองประเทศครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่ สทนช.จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาร่วมหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ที่ยังมีถกเถียงในวงกว้างซึ่งต้องอาศัยข้อมูล งานวิจัยมาพิจารณายืนยันจากผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและไม่เกิดผลกระทบ อาทิ หากปริมาณฝนหรือน้ำต้นทุนน้อยลงจะทำให้เกิดปัญหาน้ำเต็มรุกมากขึ้นโดยอาศัยงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมาศึกษา หรือปริมาณความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
หากเราสามารถควบคุมการใช้น้ำ หรือการส่งน้ำได้ดีขึ้น และหากระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูงและสูงขึ้นระดับไหนเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้จะมีความสัมพันธ์กับแผนงานโครงการที่จะเกิดขึ้นในการกำหนดมาตรการ วิธีการในการป้องกันน้ำเค็มรุกจะเป็นรูปแบบใดที่เหมาะสมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะสร้างประตูกั้นน้ำ ฝาย หรือจัดโซนเพื่อควบคุมน้ำเค็มให้อยู่วงจำกัด (Zoning) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนโดยเร็ว เพราะในอนาคตอาจจะมีปริมาณน้ำจืดไม่มากพอมาผลักดันความเค็มอย่างปัจจุบันได้
“สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พยายามผลักดันให้มีการศึกษาข้อมูลที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในแนวทางการป้องกันน้ำทะเลรุก และอาจมีผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งการแสวงหาพันธมิตรจากคนที่มีความสามารถทั้งจากไทย และต่างประเทศเข้ามาร่วมให้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนในเชิงนโยบายโดยเร็ว เรายังพอมีเวลา ศึกษา เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ทันก่อนที่ผลกระทบเรื่องน้ำเค็มจะส่งผลกระทบมากขึ้น และไม่สามารถนำน้ำจืดมาผลักดันน้ำเค็มได้อย่างเพียงพอได้อีกในอนาคต” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น